คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่ 1 เฉพาะข้อหาความผิดฐานบุกรุกมิได้เป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยมิได้ระบุว่าให้เข้าร่วมในความผิดใดก็ต้องถือว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐานบุกรุกเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองข้อหาและโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดดังกล่าว และพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 13/45 ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ให้นายธีรกุล วัฒนกูล ผู้เสียหายที่ 1 เช่าพักอาศัยอยู่กับนางพฤทธิมาวัฒนกูล ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา จำเลยได้ใช้กุญแจคล้องประตูรั้วหน้าบ้านดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ถูกหน่วงเหนี่ยว กักขังปราศจากเสรีภาพในร่างกายไม่สามารถเข้าออกจากบ้านหลังดังกล่าวได้โดยปกติสุข และเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310, 362

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายธีรกุล วัฒนกูล ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 1 เดือนและปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ปรากฏว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้เสียหายเฉพาะข้อหาความผิดฐานบุกรุกมิได้เป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใดก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐานบุกรุก ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายด้วยเท่านั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและพนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เฉพาะที่พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และให้ยกฎีกาของจำเลย

Share