แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วิธีพิจารณาในข้อที่เกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น ป.วิ.อ. ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 173/1, 173/2 และ 240 แล้ว โดยมีเจตนารมณ์ไม่เน้นบังคับให้โจทก์ต้องระบุชื่อเอกสารแต่ละฉบับหรือชื่อวัตถุแต่ละอันที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไว้ในบัญชีระบุพยาน เพราะในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงไม่จำต้องใช้ ป.วิ.พ. เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น ที่โจทก์อ้างบัญชีระบุพยานโจทก์ซึ่งไม่ใช่พยานบุคคลว่า “สรรพเอกสารและวัตถุพยานของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีนี้” ก็เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นให้เลื่อนวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานเดิมไปเป็นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกวันตรวจพยานหลักฐานโดยปริยาย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 240 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลมิได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 173/1 ซึ่งตามวรรคหนึ่งของมาตราดังกล่าว กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตนเป็นพยานหลักฐาน ให้ยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้นเว้นแต่ “…หรือศาลเห็นสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารนั้น” การที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวโดยจำเลยยอมรับต่อศาลชั้นต้นที่สอบจำเลยว่าไม่ติดใจตรวจสอบเอกสารของโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยสอบคำให้การจำเลยและให้ฝ่ายจำเลยตรวจดูเอกสารและฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว แล้วศาลชั้นต้นรับเอกสารไว้ โดยนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป และศาลชั้นต้นได้ให้ฝ่ายจำเลยตรวจเอกสารดังกล่าวดูแล้ว โดยจำเลยไม่ต้องการสำเนา การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารดังกล่าวใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น จึงเป็นอำนาจที่ศาลชั้นต้นกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี คำรับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 12 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานในวันเดียวกันคือวันที่ 20 สิงหาคม 2550 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งโจทก์ จำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2550 โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานรวม 5 อันดับ โดยระบุว่า อันดับ 1 ถึง 4 เป็นพยานบุคคล ส่วนอันดับ 5 เป็นสรรพเอกสารและวัตถุพยานของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ แต่ก่อนถึงกำหนดวันนัดที่ 20 สิงหาคม 2550 ปรากฏว่าทางราชการมีประกาศให้วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2550 เป็นวันหยุดราชการ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 สิงหาคม 2550 ว่าให้เลื่อนวันนัดพร้อมที่ลงนัดไว้และให้นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลย ในวันที่ 15 ตุลาคม 2550 เวลา 13.30 นาฬิกา โดยมีหมายนัดแจ้งวันนัดใหม่ให้โจทก์ จำเลยและนายประกันทราบแล้ว ครั้นถึงวันเวลานัดใหม่ ทนายจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 15 ตุลาคม 2550 ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานและขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ต่อศาลในวันตรวจพยานหลักฐานเพื่อให้จำเลยตรวจสอบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และคดีนี้โจทก์มีเอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล ดังนั้นจำเลยจึงประสงค์ที่จะขอตรวจดูเอกสารทั้งหมดของโจทก์ที่สามารถตรวจดูได้ตามกฎหมายในวันนัดพร้อมนี้ ทั้งจำเลยต้องการสำเนาเอกสาร ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาให้แก่จำเลยตามที่เห็นสมควรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นได้เกษียนสั่งคำร้องในวันนั้นว่า “สอบทนายจำเลยแล้วไม่ติดใจตรวจสอบเอกสารของโจทก์ รวมสำนวน” หลังจากนั้นศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ซึ่งจำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตามคำให้การที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น และโจทก์แถลงว่าหากจำเลยรับเรื่องพยานบุคคลที่ตรวจพิสูจน์ของกลางตามเอกสารรายงานการตรวจพิสูจน์โจทก์ก็จะไม่ติดใจสืบพยานบุคคลผู้ทำการตรวจพิสูจน์ ศาลชั้นต้นจึงได้ให้จำเลยและทนายจำเลยตรวจดูเอกสารแล้วจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงเรื่องผลรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง โจทก์จึงแถลงไม่ติดใจสืบพยานบุคคล และขอส่งรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของกลางเป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นรับไว้ หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยต่างแถลงต่อศาลชั้นต้นเรื่องจำนวนพยานบุคคลของแต่ละฝ่ายที่จะสืบและขอสืบพยาน 1 นัด ซึ่งศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยพร้อมกันในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 โดยสืบพยานโจทก์เวลา 9 ถึง 12 นาฬิกา และสืบพยานจำเลยเวลา 13.30 ถึง 16.30 นาฬิกา ตามที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันที่ศูนย์นัดความของศาลชั้นต้น ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย โดยระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ส่งเอกสารเป็นพยาน 10 อันดับ และศาลชั้นต้นให้จำเลยตรวจดูเอกสารแล้ว ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ทั้งในภาคเช้าและภาคบ่าย หลังจากศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยคือตัวจำเลยเสร็จแล้ว จำเลยขอเลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นพยานบุคคลอีก 2 ปาก โดยศาลชั้นต้นอนุญาต โดยโจทก์ จำเลยได้ขอนัดสืบพยานจำเลยที่ศูนย์นัดความในวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานจำเลยจนเสร็จการพิจารณาแล้วมีคำพิพากษา
มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์ไม่ได้ระบุชื่อพยานเอกสารตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.11 ในบัญชีระบุพยานโจทก์ และไม่ได้ยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลชั้นต้นในเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้จำเลยมีโอกาสตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารได้ก่อนที่โจทก์จะนำสืบพยานเอกสารนั้น แต่ศาลชั้นต้นกลับรับพยานเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.11 ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่จำเลยอ้างไว้ในฎีกาหรือไม่ เห็นว่า วิธีพิจารณาในข้อที่เกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 173/1, 173/2 และ 240 แล้ว โดยมีเจตนารมณ์ไม่เน้นบังคับให้โจทก์ต้องระบุชื่อเอกสารแต่ละฉบับหรือชื่อวัตถุแต่ละอันที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไว้ในบัญชีระบุพยาน เพราะในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย กรณีจึงไม่จำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้นที่โจทก์อ้างบัญชีระบุพยานโจทก์ในอันดับ 5 ซึ่งไม่ใช่พยานบุคคลว่า “สรรพเอกสารและวัตถุพยานของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีนี้” ก็เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.11 ไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้เลื่อนวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานเดิมไปเป็นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 15 ตุลาคม 2550 จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกวันตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้โดยปริยาย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 240 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลมิได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานตาม มาตรา 173/1 ซึ่งตามวรรคหนึ่งของมาตราดังกล่าว กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตนเป็นพยานหลักฐาน ให้ยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้นเว้นแต่ “…หรือศาลเห็นสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารนั้น” การที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวโดยจำเลยยอมรับต่อศาลชั้นต้นที่สอบจำเลยว่าไม่ติดใจตรวจสอบเอกสารของโจทก์แล้วศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยสอบคำให้การจำเลยและให้ฝ่ายจำเลยตรวจดูเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นรายงานผลการตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางตามคำขอของโจทก์ที่ประสงค์อ้างเอกสารนี้ โดยฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสาร แล้วศาลชั้นต้นรับเอกสารหมาย จ.1 ไว้ โดยนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป โดยปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งภาคเช้าและภาคบ่ายว่า ระหว่างที่โจทก์อ้างส่งเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.11 เป็นพยานต่อศาลนั้น ศาลชั้นต้นได้ให้ฝ่ายจำเลยตรวจเอกสารดูแล้วโดยจำเลยไม่ต้องการสำเนา การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารดังกล่าวใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้น จึงเป็นอำนาจที่ศาลชั้นต้นกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 240 วรรคหนึ่งแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน