คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12564/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุช่วงแรกที่จำเลยที่ 1 ขอโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนหันหลังให้ผู้เสียหายและขณะที่ผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือกับจำเลยที่ 1 และถูกจำเลยที่ 1 ผลักอก ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีท่าทีลุกขึ้นมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมทำตามคำขอของจำเลยที่ 1 และก่อนเกิดเหตุไม่นานขณะจำเลยที่ 1 ไปพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ร้านเกม ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มากับจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 ช่วยถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ถอด ตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 วางแผนชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายหรือไม่ แต่การที่จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ย่อมต้องได้ยินคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมโทรศัพท์มือถือและขอโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งเห็นผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยมิชอบ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมคืนโทรศัพท์มือถือให้ผู้เสียหาย และเมื่อถูกผู้เสียหายยื้อแย่ง จำเลยที่ 1 ส่งโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายให้จำเลยที่ 2 รับไว้ จากนั้นจำเลยทั้งสองวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 93, 83 และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 อายุยังไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่ 1 จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 15 ปี เพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 รวม 22 ปี 6 เดือน คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 14 ปี 12 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ด.ช. จ. ผู้เสียหาย อายุ 14 ปีเศษ รู้จักและสนิทสนมกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่สนิทสนมกับจำเลยที่ 2 ขณะผู้เสียหายกำลังเล่นเกมที่ร้านในอาคาร ซี 9 ของเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายโทนี่ซึ่งเป็นเพื่อนผู้เสียหายได้ตามตัวผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 ที่มุมตึกของอาคารห่างจากร้านเกมประมาณ 10 เมตร ไปถึงพบจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกันที่โต๊ะม้าหินอ่อน แล้วจำเลยที่ 1 พูดขอยืมโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ผู้เสียหายมอบโทรศัพท์มือถือให้จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยทั้งสองออกจากที่เกิดเหตุไปโดยรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ คืนเดียวกับนายภูษิต บิดาผู้เสียหายพาเจ้าพนักงานตำรวจไปที่ห้องพักของจำเลยทั้งสองที่อาคาร ที 5 ของเมืองทองธานี และถามหาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงนำโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายมาคืน
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงเอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายถูกตามตัวมาพบจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 พูดว่า “ขอยืมโทรศัพท์โทรได้ไหม” ผู้เสียหายยื่นโทรศัพท์ให้ จำเลยที่ 1 รับแล้วพลิกดูไปมาและพูดว่า “พี่ขอยืมจำนำหน่อยเพราะไม่มีเงิน” ผู้เสียหายบอกว่า “คงไม่ได้เดี๋ยวพ่อผมด่า” จึงขอคืน จำเลยที่ 1 ไม่คืนแต่พูดขอยืม ผู้เสียหายจึงยื่นมือจะหยิบโทรศัพท์มือถือคืนมาแต่ถูกจำเลยที่ 1 สะบัดมือและผลักอก แล้วจำเลยที่ 1 ส่งโทรศัพท์มือถือให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยทั้งสองพากันวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขับออกไปจากที่เกิดเหตุทันที ผู้เสียหายจึงวิ่งไปที่ร้านเกมขอยืมโทรศัพท์มือถือของเพื่อนโทรศัพท์แจ้งให้บิดาทราบ แล้วขับรถจักรยานยนต์ไปหาบิดาที่ห้อง แจ้งว่าโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายถูกลักไป จำเลยที่ 1 เองก็เบิกความรับว่าในคืนเกิดเหตุมีผู้เสียหาย บิดาผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจมาพบจำเลยที่ 1 ที่ห้องพักและถามหาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์มือถือให้ แสดงว่า เรื่องที่ผู้เสียหายขอยืมโทรศัพท์ของเพื่อนแจ้งเหตุให้บิดาทราบในทันทีมิใช่คำเบิกความลอย ๆ หรือเป็นคำเบิกความเท็จดังที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกา ทั้งเป็นการแสดงอยู่ว่าเรื่องที่จำเลยทั้งสองเอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปเป็นเรื่องร้ายแรงที่ผู้เสียหายตระหนกตกใจกลัว จึงรีบแจ้งเหตุให้บิดาทราบในทันทีทางโทรศัพท์ก่อนเดินทางไปพบบิดา ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำโทรศัพท์มือถือไปจำนำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้ได้เงินมาชำระค่าห้องเช่าจริง และผู้เสียหายกลัวถูกบิดาดุด่า ก็ควรเก็บเรื่องเงียบไว้ ไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายจะต้องร้อนรนแจ้งให้บิดาทราบจนถึงขั้นดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ส่วนที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายถอดซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือไปแสดงว่า ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมโทรศัพท์มือถือนั้น ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ขณะที่ผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 1 เอาโทรศัพท์มือถือไป ผู้เสียหายคิดอะไรไม่ออกจึงตัดสินใจพูดขอซิมโทรศัพท์มือถือออกมา และจำใจให้โทรศัพท์มือถือแก่จำเลยที่ 1 ไปโดยขณะถอดซิมการ์ดใช้เวลานานพอสมควรเนื่องจากผู้เสียหายมือสั่นเพราะรู้สึกกลัว และเบิกความตอบโจทก์ถามติงย้ำในเรื่องเดียวกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 จะเอาโทรศัพท์ไปผู้เสียหายจึงพูดว่า ขอซิมการ์ดคืนก่อนได้ไหม และด้วยความกลัวจำเลยทั้งสองจะทำร้าย เมื่อถอดซิมการ์ดออกแล้ว จึงโยนโทรศัพท์มือถือลงบนโต๊ะม้าหินอ่อน เหตุที่กลัวจะถูกทำร้ายเพราะช่วงแรกเมื่อผู้เสียหายขอโทรศัพท์คืน แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนให้จนมีการยื้อแย่งกระชากกัน เมื่อเห็นจำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืน จึงกลัวจะถูกทำร้ายเพราะพฤติกรรมเหมือนกับจะมาปล้น เป็นคำเบิกความที่มีรายละเอียดตรงไปตรงมาชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายมิได้ยินยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้แก่จำเลยที่ 1 และด้วยเหตุนี้ผู้เสียหายจึงต้องรีบแจ้งเหตุให้บิดาทราบในทันที ทั้งโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ในร้านเกม จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะไปพบและพูดขอยืมโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายที่ร้านเกมได้ การที่จำเลยที่ 1 ให้นายโทนี่ไปตามผู้เสียหายมาพบที่มุมตึกเกิดเหตุโดยมีเพียงผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเท่านั้น เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีแผนการอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะทำทีพูดขอยืมโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายมาใช้โทรศัพท์ เพื่อให้ผู้เสียหายส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 จะเผยเจตนาแท้จริงว่าจะขอยืมโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายไปจำนำเพื่อเอาเงินมาชำระค่าเช่าห้องพัก โดยจำเลยที่ 1 มีความตั้งใจอยู่แล้วว่าหากผู้เสียหายไม่ให้ยืมและขอคืนก็จะไม่ยินยอมคืนให้ ดังนี้ เมื่อผู้เสียหายแย่งคืนจึงถูกจำเลยที่ 1 ปัดมือและผลักอก แล้วส่งโทรศัพท์มือถือให้จำเลยที่ 2 พากันหลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ได้ลักเอาทรัพย์มือถือของผู้เสียหายไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าขณะผู้เสียหายไปที่มุมตึกเกิดเหตุพบจำเลยที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ 1 แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ช่วงแรกที่จำเลยที่ 1 ขอโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนหันหลังให้ผู้เสียหาย และขณะที่ผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือกับจำเลยที่ 1 และถูกจำเลยที่ 1 ผลักอก ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีท่าทีลุกขึ้นมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่ปรากฏว่าได้พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมทำตามคำขอของจำเลยที่ 1 และก่อนเกิดเหตุไม่นานขณะจำเลยที่ 1 ไปพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ร้านเกม ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มาด้วยกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะช่วยถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายด้วย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ถอด ตามพยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 วางแผนชิงโทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายหรือไม่ แต่การที่จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ย่อมต้องได้ยินคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมโทรศัพท์มือถือและขอโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งเห็นผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยมิชอบ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมคืนโทรศัพท์มือถือให้ผู้เสียหาย และเมื่อถูกผู้เสียหายยื้อแย่ง จำเลยที่ 1 ได้ส่งโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายให้จำเลยที่ 2 รับไว้ จากนั้นจำเลยทั้งสองวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานสนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสองโดยพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น แต่ในส่วนจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 พ้นโทษฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 812/2545 ของศาลอาญาไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 86 จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ให้ยกคำขอเพิ่มโทษ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

Share