คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 615/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กู้เงินจำเลยและจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน ต่อมาโจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้จำเลยเพื่อชำระหนี้จำนองดังกล่าวบางส่วน และจำเลยได้รับเงินตามเช็คนั้นแล้ว ดังนี้ แม้มิได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบางส่วน แต่เมื่อสัญญาจำนองระบุไว้ว่าผู้รับจำนองยินยอมให้แบ่งไถ่ถอนจำนองได้ ทั้งการจำนองที่ดินนี้เป็นการจำนองเพื่อประกันเงินกู้ การผ่อนชำระต้นเงินกู้บางส่วนหาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ ผลตามกฎหมายจึงมิใช่ว่าโจทก์มิได้ชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลยดังจำเลยอ้าง
กรณีคู่ความซึ่งมีหน้าที่นำสืบพยานภายหลังต้องถามค้านพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 วรรคแรก (ข) นั้น หมายความว่าเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำ หรือหนังสือซึ่งพยานที่มาเบิกความได้กระทำขึ้น ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำพยานมาสืบก่อน แต่ตัวโจทก์ซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คให้ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่จะมาเบิกความ แม้จะมีผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่และได้มาเบิกความต่อศาลก็ตาม ก็มิใช่ผู้ที่จำเลยออกเช็คให้โดยตรง จึงมิใช่กรณีที่จำเลยต้องถามค้านไว้ก่อนตามบทกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยแทนเช็คฉบับก่อนที่จำเลยอ้างว่าหายไป เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้นำเช็คฉบับที่อ้างว่าหายนั้นไปขึ้นเงินได้แล้ว โจทก์ก็ไม่ต้องรับผิดตามเช็คฉบับพิพาทอีก

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกนายบุญเชิด เป็นโจทก์ฟ้องนางขจีเป็นจำเลยว่า โจทก์จำนองที่ดิน ๒๐ โฉนด เพื่อเป็นประกันเงินที่กู้จากจำเลยจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน ๒ ปี และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็ค ๑๕ ฉบับ เป็นเงิน ๒๒๘,๐๐๐ บาท ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวกับดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง โจทก์ผ่อนชำระต้นเงินกู้ให้จำเลยเป็นเงิน ๑๔๐,๑๑๕ บาท กับได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน ๓๓,๕๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ได้นัดให้จำเลยไปรับชำระต้นเงินที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ย และรับการไถ่ถอนจำนองกับคืนเช็คทั้ง ๑๕ ฉบับ ณ หอทะเบียนที่ดิน แต่จำเลยไม่ไป จึงขอให้บังคับจำเลยรับชำระต้นเงินที่ค้าง ๕๙,๘๘๕ บาท ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินกับคืนเช็คตามฟ้องให้โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระต้นเงินกู้และค้างค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน ๒๒,๕๐๐ บาท เช็ค ๑๕ ฉบับตามฟ้อง โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยเพื่อชำระหนี้รายอื่น ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าดอกเบี้ยที่ค้าง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ไม่เคยเป็นหนี้จำเลยในหนี้รายอื่น
สำนวนที่สองนางขจีเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญเชิดบังคับจำนอง นายบุญเชิดให้การว่าได้ผ่อนชำระต้นเงินจำนองแล้วรวม ๑๔๐,๑๑๕ บาท และไม่ได้ผิดนัดในการชำระดอกเบี้ย
สำนวนที่สามนางขจีเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญเชิดให้ชำระเงินตามเช็ค ๑๒ ฉบับ เป็นเงิน ๒๑๙,๐๐๐ บาท นายบุญเชิดให้การว่า เช็คดังกล่าวจำนวน ๑๑ ฉบับ เป็นเช็คที่ออกให้เพื่อประกันเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง ส่วนอีกฉบับหนึ่งนายบุญเชิดออกให้แทนเช็คซึ่งได้สั่งจ่ายชำระหนี้เงินกู้และนางขจีหลอกลวงว่าหายไป แต่ต่อมาก็ตรวจพบว่าเช็คที่อ้างว่าหายนั้นได้ขึ้นเงินไปแล้ว
สำนวนที่สี่นางขจีฟ้องนางพยุง พุฒกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุญเชิดให้ชำระเงินตามเช็ค ๓ ฉบับ เป็นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท จำเลยให้การว่าเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้
ก่อนสืบพยาน นายบุญเชิดถึงแก่กรรม นางพยุง พุฒกุล ผู้จัดการมรดกร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอนุญาต
ในการพิจารณาเรียกนายบุญเชิด พุฒกุล โดยนางพยุง พุฒกุล ผู้รับมรดกความเป็นโจทก์ และเรียกนางขจีเป็นจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระเงินจำนองและดอกเบี้ยที่ค้าง ๖๑,๐๖๓ บาท ๑๘ สตางค์จากโจทก์ ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน ๒๐ โฉนดตามฟ้อง และให้จำเลยคืนเช็ค ๑๕ ฉบับตามฟ้องให้โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลยและยกฟ้องคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ทั้งสามสำนวน
นางขจีจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางขจีจำเลยฎีกาว่า ๑. ที่โจทก์อ้างว่าได้ชำระหนี้จำนองบางส่วนแล้วนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์มิได้มีเอกสารใบรับเงินมาแสดง และแม้สัญญาจำนองจะได้ระบุว่าให้จำเลยยินยอมแบ่งไถ่ถอนจำนองได้ก็ตาม การไถ่ถอนจำนองบางส่วนก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย และ ๒. เช็ค ๑๕ ฉบับ ที่โจทก์สั่งจ่ายเชื่อได้ว่าเป็นหนี้รายอื่นมิใช่สั่งจ่ายค้ำประกันหนี้จำนอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาข้อแรกของจำเลยนั้น ได้พิเคราะห์แล้วโจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยและจำเลยได้รับเงินแล้วคือเช็คเอกสารหมาย จ.๕, จ.๖, จ.๗, จ.๙, จ.๑๐, จ.๑๑, จ.๑๒ และ จ.๑๕ โดยเฉพาะ เช็ค จ.๕, จ.๖ จำเลยรับว่าได้นำมาคืนโจทก์และรับเงินสดไปแล้ว เช็คและเงินสดที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ดังกล่าวนี้จำนวน ๑๙ ครั้ง ตรงกับที่ปรากฏในบัญชีผ่อนชำระหนี้จำนอง เอกสารหมาย จ.๔ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๔๐,๑๑๕ บาท ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้มีเอกสารใบรับเงินมาแสดงดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเองก็เบิกความว่าได้รับเงินตามเช็คเหล่านี้ เพียงแต่อ้างว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่น ไม่ใช่ชำระต้นเงินจำนอง หากเป็นค่าดอกเบี้ยจำนองบางส่วน ศาลฎีกาก็เห็นว่าเช้คเหล่านี้เป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยภายหลังการทำสัญญาจำนองที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๓ ทั้งสิ้น ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเช็คเพื่อชำระหนี้รายอื่นก็เพียงแต่คำจำเลยเองเพียงปากเดียวปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า จำเลยได้รับเงินผ่อนชำระหนี้จำนองไปจากโจทก์แล้ว ๑๔๐,๑๑๕ บาทจริง และถึงแม้ว่าจะไม่มีการไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบางส่วนก็ตาม สัญญาจำนองข้อ ๗ ก็ระบุไว้ชัดว่า ผู้รับจำนองคือจำเลยยินยอมให้แบ่งไถ่ถอนจำนองได้ อีกทั้งการจำนองที่ดินรายนี้ก็เป็นการจำนองเพื่อประกันเงินกู้ การผ่อนชำะรต้นเงินกู้บางส่วนหาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ ผลตามกฎหมายจึงมิใช่ว่าโจทก์มิได้ชำระต้นเงินกู้ให้จำเลยดังจำเลยต่อสู้ โจทก์จึงยังค้างชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาจำนองกับจำเลยเพียง ๕๙,๘๘๕ บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาข้อที่ (๒) ของจำเลยนั้น นางพยุง พุฒกุล ภริยานายบุญเชิดโจทก์ และผู้รับมรดกความจากโจทก์เบิกความว่า ในการกู้เงินจำเลย ๒๐๐,๐๐๐ บาทนี้ นอกจากโจทก์ต้องทำสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๓ แล้ว โจทก์ยังต้องสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.๑, จ.๒ ให้จำเลยยึดถือเป็นประกันอีกด้วย ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว นายบุญเชิดสั่งจ่ายเช็คหมาย จ.๑ เงิน ๑๓๘,๐๐๐ บาท และหมาย จ.๒ เงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๒ ฉบับ เป็นเงิน ๓๓๘,๐๐๐ บาท แต่เช็คที่จำเลยฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ตามสำนวนที่สามและที่สี่รวม ๑๕ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๒๓๗,๐๐๐ บาท โจทก์นำสืบว่าเช็คที่นายบุญเชิดออกให้จำเลยอีก ๑๕ ฉบับนี้เพื่อแลกกับเช็คหมาย จ.๑ และจ.๒ เมื่อได้พิเคราะห์ถึงจำนวนเงิน ๓๓๘,๐๐๐ บาท กับ ๒๓๗,๐๐๐ บาทดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าแตกต่างกันถึง ๑๐๑,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบอธิบายให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดการออกเช็ค ๑๕ ฉบับแทนเช็ค ๒ ฉบับแรกจึงได้มีจำนวนเงินแตกต่างกันถึงเพียงนั้น ครั้นพิเคราะห์ถึงข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเช็ค ๑๕ ฉบับ เป็นเรื่องประกันหนี้จำนองราย ๒๐๐,๐๐๐ บาทนี้เองมิใช่เรื่องหนี้รายอื่นนั้น ก็ปรากฏจากพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยว่า หลังจากวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓ อันเป็นวันทำสัญญาจำนองหมาย จ.๓ แล้ว จำเลยยังได้ออกเช็คหมาย ล.๒๕, ล.๒๘, และ ล.๒๙ ระบุชื่อนายบุญเชิดเป็นผู้รับเงิน รวมจำนวนเงินถึง ๘๙,๐๐๐ บาท พยานเอกสารคือเช็คหมาย ล.๒๕, ล.๒๘ และ ล. ๒๙ นี้ สอดคล้องต้องกับคำเบิกความของจำเลยว่า นอกจากหนี้จำนองตามเอกสารหมาย จ.๓ นายบุญเชิดกับจำเลยยังมีหนี้รายอื่น ๆ ต่อกันอยู่ด้วย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเกี่ยวกับเช็คหมาย ล.๒๕, ล.๒๘ และ ล.๒๙ นี้ แม้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังจะมิได้ถามค้านพยานโจทก์เสียในเวลาที่พยานโจทก์เบิกความก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๙ วรรคแรก (ข) นั้น หมายความว่าเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำ หรือหนังสือซึ่งพยานที่มาเบิกความได้กระทำขึ้น คดีนี้ นายบุญเชิด พุฒกุล ผู้ซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คเหล่านี้ให้ ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนมิได้มาเบิกความต่อศาล และแม้นางพยุง พุฒกุล จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ ทั้งได้เบิกความเป็นพยานต่อศาลก็ตามก็มิใช่ผู้ที่จำเลยออกเช็คดังกล่าวให้โดยตรง ฉะนั้น จึงหาใช่กรณีที่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรานี้ไม่ สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่าข้อนำสืบของจำเลยที่ว่าเช็ค ๑๕ ฉบับ โจทก์ออกให้จำเลยเรื่องหนี้รายอื่นจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าข้ออ้างของโจทก์ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวข้างต้น นายบุญเชิดเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง ๑๕ ฉบับนี้ให้แก่จำเลย จำเลยจึงเป็นผู้ทรงเช็ค เมื่อเช็คเหล่านี้ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน นายบุญเชิดโจทก์ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
แต่เช็คเอกสารหมาย ล.๑๓ อันเป็นเช็คฉบับหนึ่งในจำนวน ๑๕ ฉบับดังกล่าว โจทก์ได้ให้การต่อสู้และนำสืบไว้ด้วยว่า เป็นเช็คที่ออกให้จำเลยแทนเช็คหมาย จ.๒๕ ซึ่งจำเลยอ้างว่าหายไป ต่อมาปรากฏว่าจำเลยได้นำเช็ค จ.๒๕ ไปขึ้นเงินแล้ว โจทก์จึงทวงเช็ค ล. ๑๓ คืน จำเลยไม่คืนให้ โจทก์ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจตามเอกสาร จ.๒๗ ในข้อนี้จำเลยเพียงแต่เบิกความปฏิเสธลอย ๆ ว่าเช็ค ล.๑๓ ไม่ใช่เช็คที่ออกให้แทน จ.๒๕ แต่จะแทนเช็คฉบับไหนจำเลยมิได้อธิบายไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คหมาย ล.๑๓และ จ.๒๕ จำนวนเงินเท่ากัน และจำเลยยังได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสาร จ.๒๘ แจ้งว่าได้พบเช็คที่หายไปแล้วอีกด้วย จึงฟังได้ว่ามีการออกเช็คแทนกันจริง และน่าเชื่อว่าเช็ค ล.๑๓ โจทก์ออกให้แทนเช็ค จ.๒๕ ตามที่โจทก์นำสืบ เมื่อจำเลยรับว่าได้รับเงินตามเช็ค จ.๒๕ ไปแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ล.๑๓ อีก แต่เช็คทั้ง ๑๕ ฉบับที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยในสำนวนแรก และจำเลยฟ้องให้โจทก์ชำระเงินในสำนวนที่สามและสี่นั้น มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ไม่ตรงกัน คือ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกคืนเช็คหมาย ล.๑๓ ดังกล่าว แต่เรียกคืนเช็คเลขที่ ดี/๑๖, ๓๖๒๗๑๕ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๕ สั่งจ่ายเงิน ๖,๐๐๐ บาท อีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นฉบับที่จำเลยมิได้ฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ ดังนั้น ถึงแม้โจทก์จะไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ล.๑๓ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกคืนเช็คดังกล่าว ศาลก็พิพากษาคืนให้แก่โจทก์ไม่ได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่เรียกคืนเช็ค ๑๕ ฉบับ ในสำนวนที่หนึ่ง จำเลยไม่ต้องส่งคืนเช็ค ๑๕ ฉบับ ที่จำเลยฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ ในสำนวนที่สามและสำนวนที่สี่ ให้โจทก์ใช้เงินตามเช็คในสำนวนที่สามคือเช็คหมาย ล.๖ ถึง ล.๑๒ , ล.๑๔ ถึง ล.๑๖ และ ล.๒๑ รวม ๑๑ ฉบับ ยกเว้นเช็คหมาย ล.๑๓ รวมเป็นเงิน ๒๐๔,๐๐๐ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่จำเลยขอมาในฟ้อง และให้โจทก์ใช้เงินตามเช็คในสำนวนที่สี่ คือเช็คหมาย ล.๑๗ ล.๑๘ และ ล.๑๙ ฉบับละ ๖,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ่ในจำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คือวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕, ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕ และ วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๕ ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share