คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3187/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และ ช.ชาวญี่ปุ่นอยู่กินฉันสามีภรรยากันต่อมาช.ส่งเงินจำนวนสิบล้านเยนจากประเทศญี่ปุ่นมาที่จังหวัดพะเยาโดยโอนเงินผ่านธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพะเยา ระบุชื่อช.เป็นผู้รับเงินเพราะช. ได้เดินทางตามมาพบโจทก์ด้วยธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพะเยาได้โอนเงินเข้าบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เช่นที่เคยปฏิบัติ รุ่งขึ้นโจทก์กับ ช. ไปที่ธนาคารจำเลยที่ 1 โจทก์ขอถอนเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากบัญชีสะสมทรัพย์แล้วฝากเงินดังกล่าวในบัญชีเงินฝากประเภทประจำซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของบัญชีตามคำชักชวนของพนักงานธนาคารจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าการที่ ช. อยู่ด้วยกับโจทก์ขณะโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์แล้วฝากในบัญชีเงินฝากประเภทประจำ เป็นจำนวน 1,000,000 บาท นั้น ช. ได้รับเงินที่ส่งมาแล้วและได้ส่งมอบให้โจทก์ เป็นผลให้เงินจำนวนสิบล้านเยนตกเป็นของโจทก์โดยการให้โดยเสน่หาจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจโอนเงินในบัญชีเงินฝากประเภทประจำดังกล่าวของโจทก์คืนให้แก่ ช. โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า เงินฝากตามฟ้องไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยที่ 3 เข้าใจผิดว่า ช. เจ้าของเงินมีเจตนายกให้โจทก์ จึงได้ปรับปรุงบัญชีให้ถูกต้อง โดยโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์คืนแก่ ช. และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินฝาก 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2ถึงที่ 5
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายชิโร่ โคมิย่า โอนเงิน 10 ล้านเยน จากประเทศญี่ปุ่นไปที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพะเยา จำเลยที่ 3 จึงโอนเงินดังกล่าวไปเข้าบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์ เลขที่ 38071 เมื่อวันที่ 10 เมษายน2527 วันรุ่งขึ้นโจทก์กับนายชิโร่ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1สาขาพะเยา โดยโจทก์ถอนเงินทั้งหมดออกจากบัญชีดังกล่าวแล้วฝากใหม่ในชื่อของโจทก์ในบัญชีฝากประจำ 24 เดือน เลขที่11172 จำนวนเงิน 1 ล้านบาท ต่อมาอีก 8 เดือนเศษ คือในเดือนมกราคม 2528 นายชิโร่จึงโต้แย้งเรื่องเงินพิพาท ปัญหามีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่
โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ นายชิโร่ ส่งเงินในนามของโจทก์เป็นผู้รับเงิน แม้จำเลยที่ 1จะอ้างว่าเงินพิพาทนั้นนายชิโร่สั่งจ่ายในนามนายชิโร่เป็นผู้รับเงินเองก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า เมื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ของโจทก์เลขที่ 38071 ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 11 เมษายน 2527 นั้นเอง โจทก์กับนายชิโร่มาที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพะเยา ขอถอนเงิน 1,020,000 บาท จากบัญชีสะสมทรัพย์หมายเลข 38071 จำเลยที่ 4 ชักชวนให้โจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 24 เดือน เพื่อจะได้ดอกเบี้ยสูง โจทก์ก็ตกลงฝากเงิน 1 ล้านโดยเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน เลขที่ 11172 พฤติการณ์เช่นนี้ชี้ชัดว่า นายชิโร่มีเจตนามอบเงินจำนวน 10 ล้านเยนที่พิพาทกันนี้ให้โจทก์เช่นที่เคยกระทำ ทั้งนี้เพราะเมื่อโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ไปฝากใหม่ในบัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือนนั้น โจทก์ก็กระทำต่อหน้านายชิโร่ซึ่งแสดงว่านายชิโร่รู้เห็นยินยอมให้นำเงินจำนวน 1 ล้านบาทไปฝากในบัญชีใหม่นี้ในนามของโจทก์ การที่นายชิโร่ส่งเงินพิพาทมาโดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับเงินก็น่าจะเป็นเพราะนายชิโร่กำลังเดินทางมาจังหวัดพะเยาจึงไม่มีความจำเป็นที่จะระบุให้โจทก์เป็นผู้รับเงิน ในเมื่อตนเองก็สามารถรับเงินได้แต่ก็เห็นได้ว่า นายชิโร่มุ่งประสงค์ที่จะมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์นั่งเอง โดยเหตุที่นายชิโร่กับโจทก์อยู่กันกันฉันสามีภริยา เงินที่ส่งมาก็น่าจะส่งมาให้โจทก์เพื่ออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ การที่นายชิโร่แจ้งแก่จำเลยที่ 1 สาขาโตเกี่ยวว่า ยังไม่ได้รับเงินพิพาทที่ส่งไปนั้น จึงไม่ตรงกับความจริง เพราะเมื่อนายชิโร่อยู่ด้วยกับโจทก์ขณะโจทก์ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ถือได้ว่านายชิโร่ได้รับเงินที่ส่งมาแล้ว และมอบให้โจทก์นำไปฝากเข้าบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ่จึงไม่มีอำนาจที่จะโอนเงินในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวของโจทก์ไปคืนให้นายชิโร่ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำลงไป โดยที่โจทก์มิได้ยินยอมด้วย เพราะเงินจำนวนดังกล่าวตกเป็นของโจทก์โดยการให้โดยเสน่หาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share