คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดี ศาลต้องสืบพยานตามประเด็นในข้อพิพาท ซึ่งหมายถึงปัญหาใด ๆ ไม่ว่าปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ และศาลจดลงไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท แล้วพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้น จำเลยให้การแก้ฟ้องเดิมของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโจทก์เพิ่มเติมฟ้องว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์สองคราวเป็นการชำระหนี้บางส่วนอายุความสะดุดหยุดลงจำเลยให้การปฏิเสธไม่รับรอง คดีจึงมีประเด็นว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้ดังโจทก์อ้างหรือไม่ ซึ่งโจทก์ย่อมนำสืบได้ และโจทก์มีหน้าที่นำสืบได้ตามประเด็นนี้เท่านั้น โจทก์จะนำสืบถึงการที่จำเลยชำระหนี้คราวอื่นอีกไม่ได้ เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น
สิทธิเรียกร้องเอาค่าเช่าค้างโดยบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) มีอายุความ 2 ปี และจะฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็ต้องฟ้องภายใน 2 ปีนับแต่วันรับสภาพหนี้
การรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172ต้องเป็นการรับสภาพหนี้ภายในกำหนดอายุความ ถ้าเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดอายุความแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะสะดุดหยุดลงอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าเช่าและค่าพาหนะในการที่โจทก์ไปตรวจโต๊ะบิลเลียด จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ จำเลยผ่อนชำระให้บางส่วน โจทก์ได้ทวงถามที่ค้างจำเลยก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า ค่าเช่าค้างไม่เท่าที่โจทก์ฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ที่โจทก์เพิ่มเติมฟ้อง เป็นการตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องขึ้นใหม่ จะมีดังอ้างหรือไม่ ไม่รับรอง

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันจริง หนังสือรับรองค่าเช่า จำเลยเซ็นในฐานะพยาน และต่อสู้ทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยได้ผ่อนชำระเงินให้โจทก์โดยมิได้ขอแก้คำขอท้ายฟ้อง มิใช่ข้อสำคัญถึงกับจะทำให้ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เสียไป ปัญหาว่าโจทก์จะนำสืบถึงการชำระหนี้ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้บรรยายในฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติม จะได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดี ศาลต้องสืบพยานตามประเด็นในข้อพิพาท ซึ่งหมายถึงปัญหาใด ๆไม่ว่า ปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ และศาลจดลงไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท แล้วพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้น จำเลยให้การแก้ฟ้องเดิมของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์เพิ่มเติมฟ้องว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์สองคราวเป็นการชำระหนี้บางส่วน อายุความสะดุดหยุดลง จำเลยให้การปฏิเสธไม่รับรอง คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยได้ชำระหนี้ให้ดังโจทก์อ้างหรือไม่ ซึ่งโจทก์ย่อมนำสืบได้ และโจทก์มีหน้าที่นำสืบได้ตามประเด็นนี้เท่านั้น โจทก์จะนำสืบถึงการที่จำเลยชำระหนี้คราวอื่นอีกไม่ได้เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น

ส่วนปัญหาที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) สิทธิเรียกร้องเอาค่าเช่าค้างจึงมีกำหนดอายุความเพียง 2 ปี โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างตามหนังสือรับสภาพหนี้ ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2501 ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 2 ปี คือ ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2503แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506 พ้นกำหนดเวลา 2 ปีแล้ว การที่จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ 2 คราว ๆ ละ 100 บาท เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2504 และ 2 ตุลาคม 2505 จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 หรือไม่นั้น เห็นว่า การรับสภาพหนี้ตามมาตรา 172 ต้องเป็นการรับสภาพหนี้ภายในกำหนดอายุความ คือระหว่างระยะเวลาที่อายุความกำลังเดิมอยู่ ถ้าเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดอายุความแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะสะดุดหยุดลงอีก ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้เพียงว่า จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ 2 คราว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2504 และ 2 ตุลาคม 2505 อันเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดอายุความแล้ว จึงไม่มีอายุความสะดุดหยุดลงอีก

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์

Share