คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14712/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงจะนำสืบพยานบุคคลเพื่ออธิบายว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมเงินได้ เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างมีข้อความเพียงว่า “ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)” ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้
สำเนาสมุดบันทึกของโจทก์ซึ่งเขียนชื่อและนามสกุลจำเลยพร้อมเงินจำนวน 300,000 บาท ที่จำเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ในเดือนพฤศจิกายน 2532 นั้น โจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น และเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นศาลฎีกาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 ปีเศษ แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียง 5 ปี เป็นเงินดอกเบี้ย 225,000 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 525,000 บาท ขอให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสุพรรณี ภรรยาโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความว่า “ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)” พร้อมลงลายมือชื่อจำเลยไว้ ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 หรือไม่ เห็นว่า แม้เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงจะนำสืบพยานบุคคลเพื่ออธิบายว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมเงินได้ เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างมีข้อความเพียงว่า “ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)” ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ ที่โจทก์อ้างว่ามีสำเนาสมุดบันทึกของโจทก์ซึ่งเขียนชื่อและนามสกุลจำเลยพร้อมเงินจำนวน 300,000 บาท ที่จำเลยกู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้อง ในเดือนพฤศจิกายน 2532 เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์นำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นศาลฎีกานี้ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share