แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายทำละเมิดโดยขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาท จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จนเต็มจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการเอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับไว้หรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์เกิดเหตุไว้กับบริษัท ส. ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนก็เพื่อให้บริษัท ส. ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนจำเลยที่ 2 ภายในวงเงินประกันภัย ซึ่งโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง การที่โจทก์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการกรมการประกันภัย ก็เพื่อให้ระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยและที่โจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนดังกล่าวก็เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวงเงินที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัย ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด แม้ในบันทึกข้อความเรื่องจ่ายค่าสินไหมทดแทน มีข้อความเพิ่มเติมว่า “เมื่อผู้เสนอข้อพิพาทได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วจะไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ จากบริษัทหรือผู้อื่นใดอีกต่อไป” คำว่า “ผู้อื่น” ในที่นี้ก็ไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจตีความว่าหมายถึงจำเลยทั้งสองซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกลงประนีประนอมยอมความได้ ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้มูลละเมิดตามฟ้องระงับสิ้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาลโดยค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายทำละเมิดโดยขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์โดยประมาท จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จนเต็มจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการเอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับไว้หรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนก็เพื่อให้บริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนจำเลยที่ 2 ภายในวงเงินประกันภัย ซึ่งโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง และโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกฟ้องผู้ทำละเมิดหรือผู้รับประกันภัยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนก็ได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเกินไปกว่าวงเงินประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ กรมการประกันภัย ก็เพื่อให้ระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัย และที่โจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนดังกล่าวก็เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวงเงินที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัย ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยดังกล่าวจึงมีผลทำให้มูลหนี้ละเมิดตามฟ้องระงับสิ้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ