คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยที่ 1ได้ตรวจสอบเอกสารก่อนย่อมทราบว่าที่พิพาทเป็นที่หลวงอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันจะนำไปออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทำการโอนหาได้ไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่พิพาทให้แก่มารดาโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบก่อนจึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่มารดาโจทก์และโจทก์เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากที่พิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดจำเลยที่ 1 และกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้น มารดาโจทก์ซื้อที่พิพาทมาจากบุคคลอื่น และบุคคลผู้นั้นเป็นผู้รับประโยชน์จากการขายที่พิพาท ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงไม่ได้เกิดจากจำเลยทั้งสองเสียทั้งหมดความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาจะต้องลดลงตามส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและทายาทของหม่อมสมพันธ์ุ บริพัตร ตามคำสั่งศาลแพ่งจำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 7พฤศจิกายน 2509 นายพิฑูร มาประณีต ปลัดจังหวัดรักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายไพศาล ภูรัต เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ 2 ที่ 1ตามลำดับ ได้ร่วมกระทำการโดยประมาทเลินเล่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 9118 เลขที่ดิน 105 ตำบลชะอำ (บางควาย) อำเภอชำอำ(นายาง) จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 400 ตารางวา ให้แก่นายธานี จันทรเพ็ญ โดยออกโฉนดทับที่หลวง ครั้นวันที่ 22 พฤศจิกายน2509 นายฉัตร โรจนราธา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9118 ดังกล่าวจากนายธานี จันทรเพ็ญ ขายให้หม่อมสมพันธ์ุ บริบัตรต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวเพราะเหตุออกโฉนดที่ดินทับที่หลวงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันเดียวกันโจทก์จึงทราบว่านายพิพูร มาประณีต กับนายไพศาล ภูรัต พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2และที่ 1 มีความประมาทเลินเล่อออกโฉนดที่ดินทับที่หลวงให้แก่นายธานี จันทรเพ็ญ แล้วจดทะเบียนโอนขายจากนายธานี จันทรเพ็ญให้แก่หม่อมสมพันธ์ุ บริพัตร โดยไม่มีสิทธิจะทำได้และฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายนับแต่วันโฉนดถูกเพิกถอนถึงวันฟ้อง ซึ่งโจทก์อาจขายที่ดินได้ไร่ละ 200,000 บาทขอบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โฉนดที่พิพาทได้ออกไปตามคำร้องของนายธานี จันทรเพ็ญ เพื่อให้แยกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 5818 ซึ่งเป็นของนายธานี จันทรเพ็ญ พนักงานเจ้าพนักงานของจำเลยไม่มีหน้าที่ไปตรวจสอบความถูกต้องของโฉนดที่ดินฉบับเดิมจึงไม่อาจทราบได้ว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 5818 ทับที่หลวง เหตุต้องออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 9118 เนื่องจากนายธานี จันทรเพ็ญของออกโฉนดที่ดินเลขที่ 5818 ทับเขตที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการประกาศล่วงหน้าให้เป็นที่หลวง เพื่อโปรดเกล้าให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน การขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 5818 อยู่ระหว่างปีพ.ศ. 2495 ถึงปี พ.ศ. 2499 จำเลยทั้งสองรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวข้องเพิ่งทราบเหตุการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวว่าเป็นไปโดยมิชอบหลังจากมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร แล้วและขณะนั้นนายพิฑูร มาประณีต นายไพศาล ภูรัต กับนายฉัตร โรจนราธา เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองยังไม่มีหน้าที่และตำแหน่งเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด จึงมิได้ละเมิดต่อโจทก์ ทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน15,000 บาท และเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ขอให้ออกโฉนดที่ดิน เป็นเพียงแบ่งแยกโฉนดที่ดินแปลงใหญ่เลขที่ 5818 เป็นแปลงเล็กคือโฉนดเลขที่ 9118 ตามคำขอของนายธานี จันทรเพ็ญ เท่านั้นโดยไม่ทราบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 ทับที่หลวงอยู่ด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2495 ถึงปีพ.ศ. 2499 นายธานี จันทรเพ็ญ ได้ร้องขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 5818 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ครั้นปีพ.ศ. 2509 นายธานี จันทร์เพ็ญ ได้ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็นแปลเล็ก ซึ่งที่ดินแปลงหนึ่งคือโฉนดเลขที่ 9118และเป็นที่พิพาทคดีนี้ แล้วนายธานี จันทร์เพ็ญ ได้โอนขายให้หม่อมสมพันธ์ุ บริพัตร มารดาของโจทก์ ต่อมาปี พ.ศ. 2523หม่อมสมพันธ์ุ บริพัตร ถึงแก่อนิจกรรม โจทก์ได้รับตั้งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และเป็นผู้รับมรดกที่พิพาท ภายหลังปรากฎว่าที่พิพาทออกโฉนดทับที่หลวง และถูกจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่พิพาทนั้นเสียมีข้อวินิจฉัยว่าการจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่มารดาโจทก์และการเพิกถอนโฉนดพิพาทดังกล่าวขอจำเลยทั้งสอง เป็นการละเมิดต่อมารดาโจทก์กับโจทก์และค่าใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ที่ดินตำบลชะอำแต่เดิมที่ชื่อว่าบางควายและอำเภอชะอำ ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่านายาง จังหวัดเพชรบุรี พนักงานเจ้าพนักงานที่ของจำเลยที่ 1 ได้ทำระวางแผนที่ไว้เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายนร.ศ. 129 หรือ พ.ศ. 2454 ตามเอกสารหมาย ล.3 โดยเฉพาะที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้ประกาศโดยพระบรมราชโองการเมื่อปี พ.ศ. 2467 กำหนดอาณาเขตไว้ชัดแจ้งทุกด้าน ทั้งได้ลงประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาตามเอกสารหมาย ล.2 พระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช จึงมีผลสมบูรณ์เด็ดขาดเป็นกฎหมายที่ทุกคนรวมทั้งจำเลยทั้งสองจะต้องรับรู้และปฏิบัติตามว่าที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นที่หลวงหวงห้ามจะขอออกโฉนดทับที่หลวงไม่ได้ นายศิริ เกวลินสฤษดิ์ อธิบดีจำเลยที่ 1 ก็รับว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2513 ถึง พ.ศ. 2514 ได้ตรวจพบพระบรมราชโองการดังกล่าวเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีจึงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินในเขตพระราชนิเวศนน์มฤคทายวัน ได้มีการทำระวางแผนที่เอกสารหมาย ล.3 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2454 และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2467 ก็ได้มีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดอาณาเขตไว้ชัดแจ้งทุกด้าน ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเอกสารหมาย ล.2 ด้วย ฉะนั้นก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่มารดาโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2509 หากได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่นั้นย่อมทราบว่าที่พิพาทเป็นที่หลวงอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จะนำไปออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทำการโอนหาได้ไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่พิพาทให้แก่มารดาโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อนดังกล่าวเสียก่อน จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่มารดาโจทก์และโจทก์เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากที่พิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้น
สำหรับความเสียหายของโจทก์เห็นว่า มารดาโจทก์ซื้อที่พิพาทมาจากบุคคลอื่นและบุคคลผู้นั้นเป็นผู้รับประโยชน์จากการขายที่พิพาทความเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงมิได้เกิดจากจำเลยทั้งสองเสียทั้งหมดความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาจะต้องลดลงตามส่วนจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคิดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

Share