แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีหนึ่งในขณะที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในเรื่องเดียวกันอีกแม้จะเพิ่มข้อหาและมีคำขออื่นเพิ่มเติมด้วย มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็เป็นเรื่องเดียวกันมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง ทั้งเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173(1) การที่โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนหลังจากฟ้องคดีนี้ ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีใหม่ได้.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองทำให้เสียหายไม่อาจใช้สิทธิในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเรียน พณิชยการมิตรภาพ ไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารเรียนและไม่อาจใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโรงเรียนได้ขอให้จำเลยที่ ๑โอนใบอนุญาตเจ้าของกิจการโรงเรียนพณิชย การมิตรภาพซึ่งถือไว้แทนให้แก่โจทก์ห้ามจำเลยใช้สิทธิในใบอนุญาตเป็นเจ้าของโรงเรียนรายนี้ประกอบกิจการ โรงเรียนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป หากจำเลยฝ่าฝืนให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๗๔๓ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และอาคารเรียน ๑๖ ห้องกับอาคารอื่น ๆ ที่เช่าให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยขัดขวางหรือรบกวนการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารที่เช่าดังกล่าวต่อไป หากฝ่าฝืนให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินของโจทก์ตามรายงานเอกสารท้ายฟ้อง รวมราคาเป็นเงิน ๑,๔๖๗,๐๕๐ บาท หากไม่ยอมส่งมอบให้ใช้ราคาแทน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้เข้าประกอบกิจการโรงเรียนในฐานะเจ้าของ นับแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๔ อันเป็นวันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๓๒๐,๐๐๐ บาท กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ๘๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะหยุดการทำละเมิดและส่งใบอนุญาตกับทรัพย์สินคืนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหายจริง ฟ้องโจทก์เรื่องขาดประโยชน์เคลือบคลุมและเป็นค่าเสียหายในอนาคตยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง นอกจากนี้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๗๔๐/๒๕๒๔ ของศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์สำนวนหลังบรรยายฟ้องโดยกล่าวถึงมูลคดีและทรัพย์สินรายเดียวกันกับสำนวนแรก และว่าโจทก์ทั้งสองได้บริหารกิจการโรงเรียนดังกล่าว เกิดรายได้เป็นเงินสุทธิ ๕๐๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้อยู่ในความครอบครองดูแลของคณะกรรมการการศึกษาเอกชน โจทก์ขอรับเงินดังกล่าวต่อคณะกรรมการการศึกษาเอกชนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองจงใจละเมิดต่อโจทก์ด้วยการอ้างต่อคณะกรรมการการศึกษาเอกชนว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าเงินรายได้ของโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพจำนวน๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยขัดขวางการรบเงินดังกล่าวของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีทำนองเดียวกับสำนวนแรก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่๑๑๗๔๓ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และอาคารเรียน ๑๖ ห้อง ตามสัญญาเช่าอาคารเรียนให้แก่โจทก์ที่ ๑ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจการโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพ หากจำเลยที่ ๑ไม่ยอมส่งมอบ ให้จำเลยที่ ๑ จัดการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเจ้าของโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพให้แก่โจทก์ที่ ๑ หรือบุคคลที่โจทก์ที่ ๑ประสงค์จะให้รับโอนหรือตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ ต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการผู้มีอำนาจ หากจำเลยที่ ๑ ไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาของจำเลยที่ ๑ ห้ามจำเลยที่ ๑ ดำเนินกิจการโรงเรียนโดยใช้ชื่อโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์สินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖ ให้แก่โจทก์ทั้งสองเว้นแต่ทรัพย์สินรายการที่ ๙, ๑๐, ๑๔, ๒๑, ๒๒, ๒๘, ๓๐ และ ๓๒ไม่ต้องคืนทั้งหมด ส่วนรายการที่ ๒ เครื่องพิมพ์ดีดอังกฤษโอลิมเปียให้คืน ๔๗ เครื่อง รายการที่ ๔ เครื่องคิดเลข ให้คืน ๓๙ เครื่องรายการที่ ๖ พัดลมเพดาน ให้คืน ๓๗ ตัว รายการที่ ๑๕ ตู้เหล็กให้คืน๓ ตู้ รายการที่ ๑๗ โต๊ะ ให้คืน ๒๑ ตัว รายการที่ ๑๘ เก้าอี้บุนวม ให้คืน ๒๕ ตัว รายการที่ ๒๗ โต๊ะเก้าอี้ชุดพิมพ์ดีด ให้คืน๗๙ ชุด รายการที่ ๓๓ อุปกรณ์ไฟฟ้า ให้คืนครึ่งหนึ่งหากไม่คืนก็ให้ใช้ราคารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๙๕๒,๔๕๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิรับเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองของคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ให้จำเลยทั้งสองรวมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองสำหรับการเรียนที่สองของปีการศึกษา ๒๕๒๕ เป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท และในปีการศึกษาต่อไปทุกปีปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจำเลยที่ ๑ จะโอนเปลี่ยนแปลงเจ้าของโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพมาเป็นของโจทก์ที่ ๑ หรือตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ และเลิกดำเนินกิจการโรงเรียนโดยใช้ชื่อโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพ
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๗๔๐/๒๕๒๔ โดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งสองกับพวกเข้าหุ้นส่วนกันโดยไม่จดทะเบียน รับซื้อกิจการโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพจากนางสาวอรุณ ทรงสอาด มาดำเนินการ แต่โดยที่กระทรวงศึกษาธิการวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นเจ้าของโรงเรียนได้ต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง ดังนั้น พวกโจทก์จึงตกลงให้จำเลยที่ ๑ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๗๔๓ แขวงสามเสนใน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของโรงเรียนแทนพวกโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่าและอื่น ๆ ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ครั้นเมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยทั้งสองยังคงให้โจทก์ทั้งสองเช่าที่ดินและอาคารเรียนต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยประกาศอ้างว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของโรงเรียนทำการเก็บเงินค่าเล่าเรียนจากนักเรียนยกเลิกใบเสร็จค่าเล่าเรียนของโจทก์ทั้งสองรองเท็จต่อกระทรวงศึกษาธิการขอถอนโจทก์ที่ ๒ ออกจากการเป็นผู้จัดการโรงเรียนให้บริวารเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์ทั้งสองในทรัพย์สินที่เช่า ปิดประตูโรงเรียนและห้องเรียนขนเอกสารซึ่งเกี่ยวกับการเงินและการศึกษาของโรงเรียนไป ประกาศยึดกิจการโรงเรียนและทำการยึดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเป็นของจำเลย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารเรียนที่เช่า ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางยุ่งเกี่ยวกับการจัดการกิจการโรงเรียนของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการขอถอนตัวออกจากตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน และแต่งตั้งให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการโรงเรียนเช่นเดิมหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามและเกิดความเสียหายหลังจากวันฟ้องโจทก์ขอสงวนสิทธิไว้ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีสองสำนวนนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ แม้คดีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องจำเลยทั้งสองโดยเพิ่มข้อหาว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการยึดทรัพย์สินและกิจการโรงเรียนพณิชยการมิตรภาพทั้งหมด และขัดขวางในการรับเงินรายได้สุทธิจากการบริหารกิจการโรงเรียนดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ทำให้โจทก์เสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายพร้อมทั้งมีคำขออื่นเพิ่มเติมด้วยก็ตาม มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็คงเป็นเรื่องเดียวกับมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง ทั้งเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกันกับคดีดังกล่าวนั้นเอง ดังนั้นฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่๑๒๗๕๐/๒๕๒๔ ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓(๑) การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๗๔๐/๒๕๒๔ ของศาลชั้นต้นหลังจากฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีใหม่ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน.