คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 4 คำว่า อาคาร หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม้ชั่วคราว โดยต่อเติมพื้นไม้และหลังคาสังกะสีมีขนาด 2.50 เมตร x 20 เมตร ออกไปทางด้านหลังของร้านอาหาร ฮ. ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ แม้ไม่มีลักษณะของโครงสร้างติดตรึงตราถาวรก็ตาม อาคารไม้ชั่วคราวดังกล่าวก็มีสภาพเป็นอาคารตามความหมายที่กฎหมายได้บัญญัติไว้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันเดือนใดไม่ปรากฏว่าชัดระหว่างปี 2545 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2546 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารร้านอาหารชื่อ เฮือนข้าเจ้า เลขที่ 6/6 ซอย 3 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ก่อสร้างโดยได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว จำเลยก่อสร้างต่อเติมด้านหลังร้านอาหารดังกล่าวเป็นอาคารไม้ชั่วคราว ต่อออกไปทางด้านหลังร้าน มีขนาด 2.50 เมตร x 20 เมตร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารในส่วนที่ฝ่าฝืนกฎหมายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่ง จำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2546 เวลากลางวัน ภายหลังครบกำหนด 30 วัน แล้ว จำเลยฝ่าฝืนไม่รื้อถอนอาคารในส่วนที่ต่อเติมตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 42, 65, 66 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง, 66 ทวิ วรรคหนึ่ง, วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2546 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทราบคำสั่งเจ้าพนักงาน รวมปรับ 15,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท (ที่ถูก ปรับอีกวันละ 1,000 บาท) จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 7,500 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะแต่ความผิดที่ยังคงฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ให้ปรับอีกวันละ 600 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับวันละ 300 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า อาคารไม้ชั่วคราวตามฟ้องเป็นอาคารตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า อาคารไม้ชั่วคราวตามภาพถ่ายไม่มีสภาพของอาคารและไม่ได้ติดตรึงตราถาวรหรือเป็นโรงเรือนแต่อย่างใด จึงไม่เป็นอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 คำว่า อาคารหมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม้ชั่วคราว โดยต่อเติมพื้นไม้และหลังคาสังกระสีมีขนาด 2.50 เมตร x 20 เมตร ออกไปทางด้านหลังของร้านอาหารเฮือนข้าเจ้า ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้แม้ไม่มีลักษณะของโครงสร้างติดตรึงตราถาวรก็ตาม อาคารไม้ชั่วคราวดังกล่าวก็มีสภาพเป็นอาคารตามความหมายที่กฎหมายได้บัญญัติไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share