แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยรับเงินจาก บ. ผู้ค้ำประกันการทำงานของ น. พนักงานโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วม มีสาระสำคัญว่า บ. ได้ชำระเงินให้โจทก์ร่วมแล้วและโจทก์ร่วมถือว่า บ. ได้ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันครบถ้วนแล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญากับ บ. อีกต่อไป ดังนี้ เงินที่จำเลยรับไว้จาก บ. จึงเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว เพราะโจทก์ร่วมต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียก บ. ชำระเงินอีกไม่ได้เนื่องจาก บ. อาจนำสัญญาดังกล่าวมาแสดงว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบหรือไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการเขตของโจทก์ร่วมตามระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้ก็เป็นเพียงระเบียบภายในที่จำเลยต้องปฏิบัติจะนำมาอ้างว่ามิใช่ตัวแทนของโจทก์ร่วมหาได้ไม่ หากเป็นการผิดระเบียบก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวกับจำเลยและไม่ผูกพัน บ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยรับเงินแทนโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 28 มกราคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยครอบครองเงินจำนวน 100,000 บาท ของบริษัทไดสตาร์เชน จำกัด ผู้เสียหาย และวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาบริษัทไดสตาร์เชน จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2541 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขานครสวรรค์ของโจทก์ร่วมได้รับเงิน 100,000 บาท จากนายบุญแทน เนียมหุ่น ผู้ค้ำประกันการทำงานของนายนพดล สุขสอน พนักงานโจทก์ร่วมที่ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไปตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและสัญญา จำเลยรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้แล้วไม่ได้นำไปให้โจทก์ร่วม เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการสาขานครสวรรค์ของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยรับเงินจากนายบุญแทนผู้ค้ำประกันการทำงานของนายนพดลพนักงานโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วมมีสาระสำคัญว่านายบุญแทนได้ชำระเงินให้โจทก์ร่วมแล้ว และโจทก์ร่วมถือว่านายบุญแทนได้ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันครบถ้วนแล้วไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญากับนายบุญแทนอีกต่อไป ดังนี้เงินที่จำเลยรับไว้จากนายบุญแทนจึงเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว เพราะโจทก์ร่วมต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียกนายบุญแทนชำระเงินอีกไม่ได้ เนื่องจากนายบุญแทนอาจนำสัญญาดังกล่าวมาแสดงว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบ หรือไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการเขตของโจทก์ร่วมตามระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้ ก็เป็นเพียงระเบียบภายในที่จำเลยต้องปฏิบัติ จะนำมาอ้างว่ามิใช่ตัวแทนของโจทก์ร่วมหาได้ไม่หากเป็นการผิดระเบียบก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวกับจำเลยและไม่ผูกพันนายบุญแทนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ฟังได้ว่าจำเลยรับเงินไว้แทนโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริตโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน