คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องผู้เสียหายร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งเป็นคำร้องทุกข์มีข้อความระบุอย่างชัดแจ้งว่า พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้เสียหาย มิใช่ในฐานะส่วนตัว การร้องทุกข์แทนผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลจะต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้เสียหายระบุว่า พ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการว่าหากจะกระทำแทนผู้เสียหายจะต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับด้วย ดังนั้น พ. จึงมีอำนาจดำเนินการหรือร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้โดยไม่จำต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับลงในช่องลายมือชื่อผู้กล่าวหาในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกจ์ด้วย ถือได้ว่า พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นับโทษจำเลยต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4140/2542, 4141/2542, 10631/2541 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6841/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) จำคุก 2 เดือน และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4141/2542 ของศาลชั้นต้น ส่วนโจทก์ของให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10631/2541, 4140/2540 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6841/2540 ของศาลชั้นต้น ไม่อาจนับโทษต่อให้ได้เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้เสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 80,000 บาท ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเวิรด์แอร์มาร์เก็ตติ้งผู้เสียหายซึ่งมีนางพรพรรษา พุ่มเพ็ชร เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เพื่อชำระราคาเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง ที่จำเลยซื้อไปจากผู้เสียหาย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามใบคืนเช็ค หลังจากนั้นนางพรพรรษาไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 1 ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ โดยนางพรพรรษามิได้นำตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้เสียหายไปประทับลงในช่องลายมือชื่อผู้กล่าวหาในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่านางพรพรรษาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้เสียหายจึงมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) นางพรพรรษาย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายได้ และการร้องทุกข์ไม่ชอบเป็นข้อที่จำเลยมิได้อุทธรณ์และเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นทั้งมิได้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่ศาลอุทธรณ์ยกเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบ เห็นว่า ปัญหาเรื่องผู้เสียหายร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งเป็นคำร้องทุกข์มีข้อความระบุอย่างชัดแจ้งว่า นางพรพรรษาร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้เสียหาย มิใช่ในฐานะส่วนตัว การร้องทุกข์แทนผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลจะต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้เสียหายระบุว่า นางพรพรรษาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการว่าหากจะกระทำแทนผู้เสียหายจะต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับด้วย ดังนั้น นางพรพรรษาจึงมีอำนาจดำเนินการหรือร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้โดยไม่จำต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับลงในช่องลายมือชื่อผู้กล่าวหาในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ด้วย ถือได้ว่านางพรพรรษาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายโดยชอชด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share