คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดก็ต่อเมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นผู้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นและไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยก็ตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยก็ยังไม่ถึงที่สุด ปัญหาเรื่องการกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดเป็นดุลพินิจของศาล ถ้าศาลชั้นต้นกำหนดมาไม่เหมาะสม และคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ได้เสมอเมื่อคดีส่วนของจำเลยคนนั้นยังไม่ถึงที่สุดไม่ว่าฝ่ายใดจะยกขึ้นอุทธรณ์มาโดยเฉพาะหรือไม่ก็ตาม โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำความผิด ศาลอุทธรณ์คงถูกห้ามเพียงแต่มิให้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212เท่านั้น คดีนี้โจทก์เองเป็นผู้อุทธรณ์ทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยและศาลอุทธรณ์ก็กำหนดโทษน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นวางไว้จึงไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด และบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55เป็นเรื่องกฎหมายให้อำนาจศาลจะกำหนดโทษจำคุกตามกฎหมายให้น้อยลงแต่คดีนี้เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้น้อยลงกว่าศาลชั้นต้น จึงนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55มาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดฐานขับรถเกิดเหตุไม่ช่วยเหลือหรือไม่แจ้งเหตุเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาทฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปีปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี 7 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นและไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุก 3 ปีปรับ 6,000 บาท และลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยย่อมเป็นอันยุตินั้น เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดก็ต่อเมื่อไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษานั้น แต่คดีนี้โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นและไม่รอการลงโทษ คำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยจึงยังไม่ยุติดังที่โจทก์ฎีกา ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 บัญญัติว่า “ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียง 3 เดือนหรือน้อยกว่า ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกก็ได้ หรือถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียง 3 เดือนหรือน้อยกว่าและมีโทษปรับด้วยศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงหรือจะยกโทษจำคุกเสียคงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้” โดยเหตุที่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาทจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดโทษจำคุกสำหรับความผิดดังกล่าวให้น้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก1 ปี น้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษน้อยลงย่อมไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องการกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดเป็นดุลพินิจของศาล ถ้าศาลชั้นต้นกำหนดมาไม่เหมาะสม และคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ได้เสมอเมื่อคดีส่วนของจำเลยคนนั้นยังไม่ถึงที่สุด ไม่ว่าฝ่ายใดจะยกขึ้นอุทธรณ์มาโดยเฉพาะหรือไม่ก็ตาม โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำความผิด ศาลอุทธรณ์คงถูกห้ามเพียงแต่มิให้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 เท่านั้น คดีนี้โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์ทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลย และศาลอุทธรณ์ก็กำหนดโทษน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นวางไว้ จึงไม่ต้องห้ามแต่อย่างใดบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 เป็นเรื่องกฎหมายให้อำนาจศาลจะกำหนดโทษจำคุกตามกฎหมายให้น้อยลง แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้น้อยลงกว่าศาลชั้นต้นจึงนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 มาปรับกับคดีนี้ไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าเมื่อจำเลยก่อเหตุรถชนกันแล้ว จำเลยหลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง มิได้บรรยายอ้างเหตุว่า การที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานขับรถเกิดเหตุแล้วไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุ ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share