แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย หากจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายก็เป็นเงินจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท นั้น เห็นว่า สิทธิในการฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 179,000 บาท จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยต้องรับผิดไม่เกิน 10,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371
ระหว่างพิจารณา นายพันศักดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 200,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ระหว่างรักษาตัวเป็นเงิน 100,000 บาท ค่าทรัพย์สินเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ค่าความหวาดกลัว 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 100 บาท ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม (ที่ถูก ผู้เสียหาย) เป็นเงิน 179,000 บาท กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลย 100 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะฎีกา ดังกล่าวหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย หากจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายก็เป็นเงินจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท นั้น เห็นว่า สิทธิในการฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 179,000 บาทจำเลยฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยต้องรับผิดไม่เกิน 10,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา