คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6262/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบสิทธิตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาแล้ว แม้จะไม่ปรากฏในบันทึกดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 ต้องการใช้สิทธิหรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้ว และแม้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จะปรากฎถ้อยคำว่า “ข้าฯ สามารถให้การหรือไม่ให้การใน ชั้นสอบสวน” โดยไม่ปรากฎคำว่า”ก็ได้” ต่อท้ายอาจเป็นการพิมพ์ตกหล่นของพนักงานสอบสวนก็เป็นได้ ทั้งถ้อยคำ ดังกล่าวก็มีความหมายเป็นนัยว่า จำเลยที่ 2 สามารถให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวนอยู่แล้วนั่นเอง ข้อเท็จจริง จึงฟังไม่ได้ว่าการสอบสวนกระทำโดยไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ป.อ. มาตรา 58, 83 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4823/2539 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 กระทำความผิดขณะอายุไม่เกินยี่สิบปี พิจารณาถึงความรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว ไม่มีเหตุสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4823/2539 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 จำเลยที่ 2 อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนอ้างว่าได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา แต่ไม่ปรากฏในบันทึกว่า จำเลยที่ 2 ต้องการใช้สิทธิหรือไม่ และแม้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จะปรากฏถ้อยคำว่า “ข้าฯ สามารถให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวน” แต่จำเลยที่ 2 มิได้เข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้จึงทำให้สงสัยว่า พนักงานสอบสวน มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิดังกล่าวก่อนสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบนั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 2ดังกล่าวเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยที่ 2 ว่าน่าสงสัยว่าพนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งสิทธิให้จำเลยที่ 2 ทราบทั้งทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมิได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบสิทธิตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาแล้ว แม้จะไม่ปรากฏในบันทึกดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 ต้องการใช้สิทธิหรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้ว และแม้ตามบันทึกคำให้การชั้นสวนของจำเลยที่ 2 จะปรากฏถ้อยคำว่า “ข้าฯ สามารถให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวน” โดยไม่ปรากฏคำว่า “ก็ได้” ต่อท้ายก็ตาม ก็อาจเป็นการพิมพ์ตกหล่นของพนักงานสอบสวนก็เป็นได้ ทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็มีความหมายเป็นนัยว่า จำเลยที่ 2 สามารถให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวนอยู่แล้วนั่นเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการสอบสวนกระทำโดยไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share