คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มารตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ สำหรับคดีนี้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายไปมีจำนวน 1 เม็ด น้ำหนัก 0.094 กรัม โดยไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท กรณีโทษจำคุกต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนโทษปรับทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด กล่าวคือ โทษขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่า ส่วนโทษขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณกว่า ถ้าจะลงโทษปรับขั้นสูงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่เพราะเป็นคุณกว่า ถ้าจะลงโทษปรับขั้นต่ำต้องใช้กฎหมายเดิมเพราะเป็นคุณกว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว คดีนี้โทษปรับที่จะลงแก่จำเลยให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง แม้ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ ๑๘ ปี เศษ แต่จำเลยเรียนหนังสือในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ย่อมจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ ให้จำคุก ๕ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๙ ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ และมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ สำหรับคดีนี้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายไปมีจำนวน ๑ เม็ด น้ำหนัก ๐.๐๙๔ กรัม โดยไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิม มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท กรณีโทษจำคุกต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนโทษปรับทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด กล่าวคือ โทษขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่า ส่วนโทษขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณกว่า ถ้าจะลงโทษปรับขั้นต่ำต้องใช้กฎหมายเดิมเพราะเป็นคุณกว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วโทษปรับที่จะลงแก่จำเลย ให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไข โดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง (เดิมและที่แก้ไขใหม่) ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ ๑๘ ปี เศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ จำคุก ๒ ปี และปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี และปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ ๒ ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ ๓ ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

Share