คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานคะแนน กรรมการตรวจคะแนน ผู้ดำเนินการเลือกตั้งและผู้อำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง เอาบัตรในหีบเลือกตั้งออกมานับว่าตรงกับจำนวนผู้ออกเสียงหรือไม่ และตรวจว่าเป็นบัตรเสียหรือไม่ ตามกฎกระทรวงมหาดไทยแต่ตรวจยังไม่หมดเกรงจะมืด จึงเอาบัตรใส่คืนลงในหีบแล้วนำออกนับคะแนนทันที ไม่เป็นการจงใจนับบัตรเลือกตั้งให้ผิดความจริงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 58
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคนละตอนขัดกัน ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่โดยไม่ย้อนสำนวนไปก็ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 นำบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดที่วางอยู่นอกหีบบัตรเลือกตั้งใส่ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้งแล้วจึงนับคะแนนถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ควรมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 58ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 10)

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ความปรากฏว่า จำเลยที่ 6ถึงแก่กรรมภายหลังจากโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาและส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการ ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาโดยยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องนี้แต่อย่างใดศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) และปรากฏว่าศาลส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยที่ 9 ไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ ศาลฎีกาจึงพิจารณาพิพากษาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201ประกอบด้วยมาตรา 225 คดีจึงขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7ที่ 8 และที่ 9 เท่านั้น

คดีนี้โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ประกาศให้เลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาจังหวัดระบุวันที่ 20 มิถุนายน 2519 เป็นวันเลือกตั้ง นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ประกาศตั้งจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานคะแนน ตั้งจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5และจำเลยที่ 6 เป็นกรรมการตรวจคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 1 (บ้านหนองโทน) ตำบลไผ่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้ง จำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นกำนัน (ตำบลไผ่) และจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน(บ้านหนองโทนตำบลไผ่) เป็นผู้อำนวยความสะดวกประจำหน่วยเลือกตั้งส่วนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และโจทก์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลขเครื่องหมายประจำตัวเลขที่ 22 เลขที่ 12 และเลขที่ 23 ตามลำดับ ในวันเลือกตั้งจำเลยที่ 8 มิได้ให้นางสาวบุญมี นามไว พยานโจทก์ช่วยกาบัตรเลือกตั้งหมายเลข 12, 22 และ 4 แล้วแบ่งบัตรให้นำไปลงในหีบบัตรเลือกตั้ง และจำเลยที่ 2 มิได้มอบซองจดหมายใส่ธนบัตรให้นางสาวบุญมีนำไปให้จำเลยที่ 1ก่อนทำการนับคะแนน จำเลยที่ 1 นำบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดที่วางอยู่นอกหีบบัตรเลือกตั้งใส่ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้งแล้วจึงนับคะแนน ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดกัน เพราะเมื่อฟังว่ามิได้มีการนำบัตรเลือกตั้งไปให้ผู้อื่นทำเครื่องหมายนอกที่เลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งที่จำเลยที่ 1 นำจากนอกหีบใส่ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้งก็ต้องเป็นบัตรที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงคะแนนแล้ว เมื่อเป็นบัตรที่มีการลงคะแนนโดยถูกต้อง แต่เหตุใดจึงมีบัตรมาอยู่นอกหีบบัตรเลือกตั้ง ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามมาตรา 47 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 บัญญัติว่า “ในการทอดบัตรเลือกตั้ง ให้ยื่นบัตรแก่กรรมการตรวจคะแนนประจำหีบบัตรเลือกตั้ง และให้กรรมการนั้นใส่บัตรลงในหีบทันที” และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2517 ข้อ 54 วรรคสองบัญญัติว่า “ให้กรรมการตรวจคะแนนรับบัตรเลือกตั้งใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งทันทีต่อหน้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้น” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หากกรรมการตรวจคะแนนรับบัตรแล้วไม่ใส่ลงในหีบ นายผ่อง ภูดงยอด พยานโจทก์ก็ต้องเห็นและคงจะทักท้วงในทันที เพราะนายผ่องเป็นตัวแทนผู้สมัครหมายเลข 2และไปอยู่ ณ ที่เลือกตั้งแต่ต้นจนกระทั่งเสร็จการลงคะแนน และบัตรที่อยู่นอกหีบที่จำเลยที่ 1 ใส่ลงไปในหีบนั้น นายผ่องว่ามีถึงราว 150 ฉบับ ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อย ส่วนนายชาล ภูเบ้าทอง พยานโจทก์เบิกความว่า ตอนปิดการลงคะแนนได้มีการนำหีบจากที่เดิมไปไว้ที่โต๊ะจำเลยที่ 1 ซึ่งมีบัตรกองอยู่แล้วแล้วจำเลยที่ 1 เอาบัตรที่อยู่ภายนอกประมาณ 100 บัตรใส่ลงไปในหีบปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการตรวจคะแนนผู้ทำหน้าที่รับบัตรใส่ในหีบจำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นกรรมการตรวจคะแนนผู้มีหน้าที่ส่งบัตรให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ปรากฏตามคำพยานโจทก์ว่าบัตรเลือกตั้งไปอยู่ที่โต๊ะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานคะแนนได้อย่างไร เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ในการจ่ายบัตรและรับบัตรจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากมีบัตรดังกล่าวอยู่บนโต๊ะจำเลยที่ 1 นายผ่องพยานโจทก์คงจะทักท้วงเสียก่อนแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำบัตรเหล่านั้นมาจากที่ใด เหตุการณ์น่าเชื่อเป็นความจริงดังที่จำเลยนำสืบว่า ได้นำบัตรที่อยู่ในหีบออกมานับว่าตรงกับจำนวนผู้ที่ไปแสดงตนต่อกรรมการเพื่อลงคะแนนหรือไม่ และตรวจบัตรเพื่อวินิจฉัยว่าบัตรเลือกตั้งใดเป็นบัตรเสีย อันเป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ. 2482 ข้อ 25, 26 แต่เมื่อยังเหลือบัตรเลือกตั้งอีกครึ่งหนึ่ง เกรงว่าจะนับไม่ทันเสร็จก่อนค่ำเพราะตะเกียงเจ้าพายุเสียจุดยังไม่ได้ กรรมการจึงได้ตกลงกันว่าให้นับคะแนนทันที โดยหยิบบัตรเลือกตั้งทีละฉบับ ตามที่ระบุไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2517 ข้อ 62, 63จำเลยที่ 1 จึงเอาบัตรที่ออกมานับและตรวจใส่ลงในหีบบัตรตามเดิม เมื่อบัตรที่จำเลยที่ 1 ใส่ลงไปในหีบดังกล่าวเป็นบัตรเลือกตั้งที่อยู่ในหีบบัตรเลือกตั้งมาก่อน จึงเป็นบัตรที่ผู้เลือกตั้งได้ใช้สิทธิลงคะแนนโดยถูกต้อง แม้การนับคะแนนจากบัตรดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยระเบียบฯ ที่บังคับว่าให้นับคะแนนทันทีแต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ชอบด้วยกฎกระทรวงฯ ที่ให้นำบัตรมานับก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนในการเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 58 ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 นั้น คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานนี้เช่นกัน ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 คดีก็ฟังไม่ได้ว่าได้กระทำความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาในฎีกาแต่ประการใด”

พิพากษายืน

Share