คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444-2445/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยป่วย โจทก์ไม่คัดค้านคำขอเลื่อนไม่มีเหตุผลพอฟังว่าประวิงคดี ศาลไม่ให้เลื่อนเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา แต่พยานโจทก์ที่ศาลสืบในวันนั้นโดยจำเลยไม่มีทนายซักค้านเป็นพยานเกี่ยวกับการรับรองเอกสารซึ่งจำเลยก็นำสืบรับรองว่ามีอยู่จริง จึงไม่ต้องพิจารณาสืบพยานโจทก์ในวันนั้นใหม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 2,356,204.10บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อแรกว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และสืบพยานโจทก์ไปโดยจำเลยไม่มีโอกาสซักค้านเป็นการไม่ชอบ ได้พิจารณาแล้ว ได้ความว่าในวันที่ 3มีนาคม 2519 ซึ่งศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นั้น จำเลยยื่นคำร้องว่าทนายจำเลยเดินทางไปธุรกิจที่จังหวัดศรีสะเกษและเกิดป่วยขึ้น ตามสำเนาใบรับรองของแพทย์ที่เสนอไว้ท้ายคำร้อง เมื่อปรากฏว่าทนายจำเลยป่วยโดยมีใบรับรองของแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษแสดงว่าทนายจำเลยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ให้พักรักษาตัวจนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2519 และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านว่าทนายจำเลยไม่ป่วยเจ็บ เพียงแต่แถลงว่าพยานโจทก์มาพร้อมแล้ว สุดแล้วแต่ศาลจะเห็นควร ศาลฎีกาเห็นว่าความเจ็บป่วยของทนายจำเลยถือว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ทั้งคู่ความอีกฝ่ายก็มิได้คัดค้านศาลชอบที่จะให้เลื่อนคดีไปในกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร ส่วนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าการขอเลื่อนคดีของฝ่ายจำเลยมีลักษณะเป็นการประวิงคดีนั้น ได้พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าก่อนหน้าวันที่ 3 มีนาคม 2519 ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานคดีนี้มาแล้ว 19 ครั้ง แต่ทำการสืบพยานโจทก์ได้เพียง 6 ครั้งโดยฝ่ายโจทก์ขอเลื่อนคดีถึง 7 ครั้ง โจทก์จำเลยขอเลื่อนคดีร่วมกัน 1 ครั้งฝ่ายจำเลยขอเลื่อน 5 ครั้ง โดยอ้างว่าทนายเจ็บป่วย 4 ครั้ง และอ้างกิจธุระของทนายจำเลยอีก 1 ครั้ง รูปคดีเช่นนี้ยังฟังไม่ถนัดว่าการขอเลื่อนคดีของฝ่ายจำเลยในครั้งนี้เป็นการประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีในวันดังกล่าวจึงเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา แต่การที่จะมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่หรือไม่นั้น ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลฎีกาซึ่งจะได้พิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรเป็นเรื่อย ๆ ไปสำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเป็นผลเพียงให้จำเลยไม่มีโอกาสซักค้านพยานโจทก์ 2 ปากที่ได้เข้าเบิกความในวันนั้น ปรากฏว่าพยานโจทก์ปากหนึ่งคือนายวารี แสวงกิจ ได้เข้าเบิกความรับรองลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในเอกสารหมาย จ.2 และรับรองเอกสารการคืนเช็คของธนาคาร หมาย จ.7 ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ ส่วนพยานโจทก์อีกปากหนึ่ง คือ สิบตำรวจเอกสุพจน์ ทักสิมา ได้เข้าเบิกความรับรองสำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เอกสารหมาย จ.8และ จ.9 ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ ทั้งยังได้นำพันตำรวจโทธนู หอมหวล เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันถึงความมีอยู่ของเอกสาร2 ฉบับนี้ด้วย การที่จำเลยไม่ได้มีโอกาสซักค้านพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากมิได้ทำให้จำเลยต้องเสียเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้มีการสืบพยานโจทก์ในนัดนั้นใหม่ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา” ฯลฯ

“ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ส่งภาพถ่ายเช็คพิพาทเป็นพยานไม่ได้ส่งต้นฉบับ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ได้ความว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งยึดเช็คพิพาทไว้ตามเอกสารหมาย จ.8 และโจทก์ยังไม่ได้รับคืนมา ซึ่งโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับเช็คพิพาทจากสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แต่สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีหนังสือแจ้งมาว่า ไม่สามารถที่จะส่งให้ได้เนื่องจากเอกสารของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งถูกไฟไหม้หมดทุกชิ้น (เอกสารลำดับที่ 26ในสำนวน) เมื่อปรากฏว่าต้นฉบับของเช็คพิพาทหาไม่ได้ เพราะถูกไฟไหม้ไปแล้วซึ่งถือได้ว่าต้นฉบับเช็คพิพาทถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงนำภาพถ่ายซึ่งเท่ากับเป็นสำเนาของเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 มาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)”

พิพากษายืน

Share