คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวิธีการบังคับคดี โดยระบุว่าให้รังวัดแบ่งที่พิพาทขายให้โจทก์ เนื้อที่ 2 งาน ซึ่งหมายความว่า ที่ดิน 2 งาน เมื่อคิดหน้าที่ดินที่ถูกตัดถนนแล้วยังเหลือเท่าใดก็โอนให้โจทก์ไปเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่กล่าวนี้ย่อมเป็นที่สุด และต้องรังวัดที่พิพาทเป็นจำนวนเนื้อที่ 2 งานโดยรวมเนื้อที่ที่ถูกกันไว้เป็นถนนเข้าด้วย เหลือเท่าใดจึงโอนให้โจทก์ไปเท่านั้น ตามที่โจทก์แถลงไว้ต่อศาล ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินว่า การแบ่งแยกโฉนดพิพาทออกให้มีเนื้อที่ 2 งาน รวมทั้งเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน 63 ตารางวาด้วย จึงเป็นการถูกต้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์จะมาร้องใหม่อีกขอให้รังวัดที่พิพาทออกเป็น 263 ตารางวา แล้วกันส่วนที่ถูกเวนคืน 63 ตารางวาออกนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะนอกจากจะขัดกับคำแถลงของโจทก์เองแล้ว ศาลฎีกายังได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วอีกด้วย
เมื่อการบังคับคดีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็จำต้องถือคำพิพากษาฉบับหลังที่สุดเป็นหลักดำเนินการบังคับคดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑, ๒ ด้วยความรู้เห็นของจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาขายที่ดินโฉนดที่ ๔๗๖๐ ให้โจทก์ ๒ งาน ขอให้บังคับจำเลยไปขอแบ่งแยกโฉนด ถ้าไม่อาจบังคับจำเลย ก็ขอให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑, ๒ จัดการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ ๒ งาน ถ้าไม่สามารถขายได้ ให้จำเลยที่ ๑, ๒ คืนเงินมัดจำ ๕,๐๐๐ บาท ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งคำพิพากษาไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ถ้าแบ่งแยกตามคำสั่งศาล เนื้อที่ ๒๐๐ ตารางวาที่จะแบ่งให้โจทก์นั้น จะต้องรวมเนื้อที่ที่ถูกตัดเป็นถนนเข้าไปด้วย ฝ่ายจำเลยยอมอุทิศที่ดินของจำเลยให้เป็นถนน ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ ๒ งาน โดยมิให้รวมที่ดินที่ถูกตัดถนนนั้นเข้าด้วย
ศาลชั้นต้นสั่งว่าให้บังคับคดีไปตามข้อแม้ในคำพิพากษาของศาล กล่าวคือ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ๕,๐๐๐ บาท ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืน
โจทก์ยื่นคำร้องว่า บัดนี้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป เพราะเจ้าหน้าที่เทศบาลชี้เขตถนนผิด ทำให้โจทก์เข้าใจผิด ขอให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีคำสั่งใหม่ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินที่โอนให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ศาลชั้นต้นให้งดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑, ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำบังคับของศาล ในประการที่ให้จำเลยทั้งสองขอแบ่งแยกโฉนดรายพิพาท และจดทะเบียนขายให้โจทก์ เนื้อที่ ๒ งาน หมายความว่าที่ดิน ๒ งานนั้น เมื่อหักที่ดินที่ถูกตัดถนนเสียแล้ว ยังเหลือเท่าใด ก็โอนให้โจทก์ไปเท่านั้น ตามที่โจทก์แถลงไว้ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลฎีกายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือถามมายังศาลชั้นต้นว่า การแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ ๒ งาน เมื่อรวมกับเนื้อที่ตามบัญชีที่ดินท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ อีก ๖๓ ตารางวา เป็นเนื้อที่ที่ต้องแบ่ง ๒ งาน ๖๓ ตารางวา จะถูกต้องตามคำพิพากษาหรือไม่ ศาลชั้นต้นตอบไปว่าเมื่อแบ่งแยกและหักเนื้อที่ ๖๓ ตารางวาออกแล้ว ยังคงเหลือ ๑ งาน ๓๗ วา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินใหม่ว่า ให้รังวัดที่ดินโฉนดที่ ๔๗๖๐ รายพิพาทออกเป็น ๒๖๓ ตารางวา แล้วกันออกเป็นส่วนที่ถูกเวนคืน ๖๓ ตารางวา ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์จะกลับมาร้องใหม่ในเหตุที่วินิจฉัยแล้วไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ถึงที่สุดชั้นศาลฎีกา ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ ๑, ๒ จัดการแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๔๗๖๐ และจดทะเบียนขายให้โจทก์ ๒ งาน ย่อมถือว่าถึงที่สุด และต้องบังคับคดีไปตามนี้ ส่วนคำสั่ง (หรือคำพิพากษา) ในชั้นหลัง ๆ เป็นเพียงคำสั่งในชั้นบังคับคดี โดยถือเอาคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นเป็นหลักอยู่เรื่อยไป คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๗ ที่ให้แบ่งแยกโฉนดที่ ๔๗๖๐ ออกโดยให้มีเนื้อที่ ๒ งาน รวมทั้งที่ถูกเวนคืน ๖๓ ตารางวานั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ตรงกับคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ย่อมร้องขอให้สั่งเสียให้ถูกต้องได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๐๘ ที่สั่งว่าโจทก์จะกลับ มาร้องใหม่ไม่ได้นั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินว่าให้จัดการแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๔๗๖๐ และจดทะเบียนขายให้โจทก์เป็นเนื้อที่ ๒ งาน
จำเลยฎีกา
คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้รังวัดที่พิพาทให้โจทก์ ๒ งาน โดยรวมเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน ๖๓ ตารางวาเข้าด้วย เป็นการถูกต้องหรือว่ารังวัดให้ได้ เนื้อที่ ๒ งาน โดยไม่รวมเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเข้าด้วย ตามที่โจทก์ขอ
ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นบังคับคดีขณะนี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวิธีการบังคับคดี โดยระบุชัดเจนว่าให้รังวัดแบ่งที่พิพาทขายให้โจทก์เนื้อที่ ๒ งาน โดยวัดจากหลักหมายเลขที่ ๑๒๐๒๑ ไปหาหลักเขตที่ ๑๘๐๘๐ ให้เป็นรูปเส้นแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ทั้งนี้ ให้หมายความว่าที่ดิน ๒ งานนั้น เมื่อคิดหน้าที่ดินที่ถูกตัดถนนเสียแล้วยังเหลือเท่าใด ก็ให้โอนให้โจทก์ไปเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่กล่าวนี้ย่อมเป็นที่สุด และต้องรังวัดที่พิพาทเป็นจำนวนเนื้อที่ ๒ งาน โดยรวมเนื้อที่ที่ถูกกันไว้เป็นถนนเข้าด้วย เหลือเท่าใดจึงโอนไปเท่านั้น ตามที่โจทก์ได้แถลงไว้ต่อศาล ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือ ๘๘๐๔/๒๕๐๗ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๗ ว่า การแบ่งแยกโฉนดที่ ๔๗๖๐ ออกให้มีเนื้อที่ ๒ งาน รวมทั้งเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน ๖๓ ตารางวาด้วย จึงเป็นการถูกต้องตรงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่กล่าวข้างต้น โจทก์จะมาร้องใหม่อีกขอให้รังวัดที่พิพาทออกเป็น ๒๖๓ ตารางวา แล้วกันส่วนที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา ๖๓ ตารางวา ออกนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะนอกจากขัดกับคำแถลงของโจทก์เองแล้ว ศาลฎีกายังได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วอีกด้วย ถ้าจะอนุญาตตามที่โจทก์ร้องขอก็ไม่มีที่สิ้นสุดได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการบังคับคดีต้องอาศัยคำพิพากษา (เดิม) เป็นหลักอยู่เรื่อยไป คำสั่งของศาลชั้นต้น (ตอนหลังนี้) ไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับคำพิพากษา จึงใช้ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะคดีนี้การบังคับคดีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดมา ก็จำต้องถือคำพิพากษาฉบับหลังที่สุดเป็นหลักดำเนินการบังคับคดีต่อไป ส่วนการบังคับคดีในชั้นนี้จะผิดแผกไปจากผลของคำพิพากษา (เดิม) บ้างก็เพราะได้เปลี่ยนแปลงวิธีการบังคับคดีโดยคำพิพากษามาศาลฎีกาดังที่กล่าวแล้วนั้น
พิพากษากลับ บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share