คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในเรื่องอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น แม้ไม่เป็นประเด็นที่คู่ความอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
เมื่อตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยหาจำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 17,18 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการลดและเพิ่มจำนวนหุ้นส่วนในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 104/2515 ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2515 โจทก์ได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวโดยสำคัญผิด เพราะทนายโจทก์และจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ข้อความในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะและให้ดำเนินคดีดังกล่าวต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างใด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ารายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์แก้ไขได้ จะยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาของศาลนั้นเองไม่ได้ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ตรงกับประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ไว้ เพราะประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์มีว่า ศาลชั้นต้นควรรับฟ้องของโจทก์หรือไม่ ควรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 17, 18 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นการชี้ขาดเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้ว พิพากษาคดีไปได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ในกรณีเช่นนี้ศาลย่อมพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 17, 18

พิพากษายืน

Share