คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ คู่ความต้องกล่าวมาโดยชัดแจ้งในอุทธรณ์หรือฎีกาเพื่อศาลจะได้ทราบรายละเอียดว่าคู่ความติดใจอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งปัญหาใดได้โดยชัดแจ้ง เมื่อจำเลยกล่าวอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่วินิจฉัยได้ เพราะไม่เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ในชั้นยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดิน ก. ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานแทนจำเลยว่า จำเลยทราบแล้วว่าการจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยติดต่อกัน10 แปลง ขึ้นไป เพื่อจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนโดยมีการให้คำมั่นโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะต่าง ๆหรือปรับปรุงที่นั้น ๆ ให้เป็นที่อยู่อาศัย ประกอบการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งผู้จัดสรรจะต้องได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ การที่จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินและจัดแบ่งที่ดิน แปลงพิพาทเป็นถนนก็เพื่อประโยชน์ในการขายที่ดินของตน ถนน ที่จัดแบ่งดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภคเพื่อการขาย ตกเป็นภารจำยอม สำหรับโจทก์ผู้ซื้อที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกขายตามความหมายของ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิ ปิดกั้นมิให้โจทก์ผู้ซื้อที่ดินที่จำเลยแบ่งขายได้ใช้สอย
ไม่มีกฎหมายใดห้ามการจดทะเบียนภารจำยอมตาม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องบังคับ ให้จดทะเบียนภารจำยอมเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ ภารจำยอมอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391
ภารจำยอมนั้นเกิดได้โดยทางนิติกรรม โดยกฎหมายหรือโดยอายุความจากการใช้ การที่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอม ตามกฎหมายและโดยอายุความจากการใช้ หาเป็นคำฟ้องจำเลยเข้าใจ คำฟ้องและต่อสู้คดี การได้มาซึ่งภารจำยอมของโจทก์ทั้งสองทาง เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40783ซึ่งเดิมมีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำมาจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงย่อยรวม 13 แปลง พร้อมทั้งได้ก่อสร้างตึกแถวลงบนที่ดินที่แบ่งเป็นแปลงย่อยดังกล่าวรวม 10 ห้อง มีทางเข้าออกทั้งด้านหน้าและหลังตึก ด้านหน้าติดกับถนนสุขุมวิท 77 (ซอยอ่อนนุช) ส่วนด้านหลังตึกแถวเว้นที่ดินไว้เป็นถนนและที่จอดรถยนต์เนื้อที่ 88 ตารางวา กว้าง 6 เมตรยาวตลอดแนวตึกและให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ดินเดิม การจัดสรรที่ดินของจำเลยเพื่อปลูกตึกแถวขายโดยจัดให้มีสาธารณูปโภคเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2522 ถึงเดือนมกราคม 2523 โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 148865 ซึ่งเป็นแปลงที่แบ่งย่อยออกมาพร้อมตึกแถวเลขที่ 46/6 หมู่ที่ 8 จากจำเลยทั้งสอง และโจทก์ได้ใช้ที่ดินบริเวณหลังตึกเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 77 ตามที่จำเลยจัดไว้ให้ใช้โดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลามากกว่าสิบปี ถนนดังกล่าวจึงตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ ต่อมาประมาณปลายปี 2538 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปิดกั้นทางเข้าออกด้านหลังตึกแถวเฉพาะห้องของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปิดกั้นที่ทำลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 และให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 148865 ของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งที่ปิดกั้นแล้วเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะบรรยายว่าถนนพิพาทเป็นภารจำยอมโดยกฎหมาย และเป็นภารจำยอมที่ใช้มาโดยสงบเปิดเผยเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 10 ปี ซึ่งขัดกันในตัว จำเลยที่ 1ไม่เคยจัดสรรที่ดิน จำเลยที่ 1 เพียงแบ่งแยกในนามเจ้าของที่ดินเดิมและขายแก่บุคคลทั่วไป ถนนพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จัดทำไว้เพื่อให้จำเลยที่ 1 และผู้เช่าบ้านของจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนอ่อนนุชเท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นหากจะใช้ถนนพิพาทต้องขออนุญาตจากจำเลยที่ 1 ก่อนโจทก์ไม่เคยพักอาศัยในที่ดินและตึกแถวของโจทก์จำเลยที่ 1 ปิดกั้นถนนพิพาทมิให้โจทก์หรือบุคคลที่อาศัยในตึกแถวของโจทก์ผ่านเข้าออกตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน ที่โจทก์อ้างว่าใช้ถนนพิพาทมาเกินกว่า10 ปี จึงเป็นความเท็จ ความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าต้องไปเช่าที่จอดรถยนต์นั้นมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด และขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อสิ่งปิดกั้นที่ก่อขึ้นบนที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 และดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวตกแก่ที่ดินโจทก์ทั้งแปลง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ในปัญหาที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเป็นการไม่ชอบ เพราะกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความติดใจจะยกขึ้นว่ากล่าวไม่ว่าในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ คู่ความต้องกล่าวมาโดยชัดแจ้งในอุทธรณ์หรือฎีกา เพื่อศาลจะได้ทราบรายละเอียดว่าคู่ความติดใจอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งปัญหาใดได้โดยชัดแจ้ง เมื่อจำเลยที่ 1 กล่าวอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่วินิจฉัยได้ เพราะไม่เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่า การแบ่งแยกที่ดินของจำเลยที่ 1เกิน 10 แปลง แต่จำเลยที่ 1 ขายไปเพียง 8 แปลง กรณีของจำเลยที่ 1ไม่ใช่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 นั้น เห็นว่าในชั้นยื่นคำร้องขอแบ่งแยกตามเอกสารหมาย จ.34 นายกิตติ เนติมงคลได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานแทนจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่าการจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยติดต่อกันตั้งแต่ 10 แปลง ขึ้นไปเพื่อจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทน โดยมีการให้คำมั่นโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะต่าง ๆ หรือปรับปรุงที่นั้น ๆ ให้เป็นที่อยู่อาศัย ประกอบการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515ซึ่งผู้จัดสรรจะต้องได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการจัดสรรแบ่งที่ดินของจำเลยที่ 1ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามที่กล่าว เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือปรับปรุงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ข้อที่จำเลยที่ 1อ้างเรื่องแบ่งแยกขายเพียง 8 แปลง นอกนั้นยกให้บุตรนั้น จำเลยที่ 1 เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นสืบพยาน ซึ่งแตกต่างกับที่นายกิตติให้ถ้อยคำไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้โดยจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่าการให้โดยเสน่หาแก่บุตรเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 และปี 2534 หลังจากจำเลยที่ 1ก่อสร้างตึกแถวเสร็จแล้วถึง 10 ปีเศษ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง การที่จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินและจัดแบ่งที่ดินแปลงพิพาทเป็นถนนก็เพื่อประโยชน์ในการขายที่ดินของตนถนนที่จัดแบ่งดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภคเพื่อการขายตกเป็นภารจำยอมสำหรับโจทก์ ผู้ซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1 แบ่งแยกขายตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิปิดกั้นมิให้โจทก์ผู้ซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1 แบ่งขายได้ใช้สอย

ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปที่ว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าถนนพิพาทเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ข้อ 30 แล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง อีกนั้นเห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดห้ามการจดทะเบียนภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จดทะเบียนภารจำยอมเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภารจำยอมอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้มีการจดทะเบียนภารจำยอมทางพิพาทชอบแล้ว

สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า ถนนพิพาทเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แล้ว กลับบรรยายคำฟ้องว่า ถนนพิพาทเป็นภารจำยอมจากการที่โจทก์ใช้สอยมาเกิน 10 ปี อีกนั้น เห็นว่า ภารจำยอมนั้นเกิดได้โดยทางนิติกรรม โดยกฎหมาย หรือโดยอายุความจากการใช้ได้ทั้งสามทาง การที่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมตามกฎหมายและโดยอายุความจากการใช้ หาเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 เข้าใจคำฟ้องและต่อสู้คดีการได้มาซึ่งภารจำยอมของโจทก์ทั้งสองทางเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้คดี”

พิพากษายืน

Share