แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ในเวลาบังคับใช้ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ซึ่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ทำให้จำเลยที่ 1 โดยผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ฯ จึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
การจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินแปลงอื่นให้แก่ที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนกระทำขึ้นภายหลังจากที่ที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดให้อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนมาแล้วหลายปี แสดงว่าทำขึ้นโดยฉ้อฉลเพียงเพื่อประสงค์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องห้ามมิให้คิดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ดินที่สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 24 (2) จึงต้องถือว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯ มีผลใช้บังคับนั้น ที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนไม่มีส่วนใดอยู่ติดทางสาธารณะหรือทางภาระจำยอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 194,832,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี จากต้นเงิน 177,700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 22,980,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นเป็นเงิน 20,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 4 แปลง ตั้งอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง ฯ และ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร ฯ คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2536 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน ราคาตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เท่ากับจำนวนเงินค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนด หลังจากนั้นโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินดังกล่าวทั้งหมดไปแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองกำหนดให้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ฯ กันเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2536 อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ทำให้จำเลยที่ 1 โดยผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ฯ จึงชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นฝ่ายจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสามภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาดังกล่าวซึ่งก็คือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน ยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย
ส่วนการจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินแปลงอื่นให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แปลงที่จะต้องเวนคืนกระทำขึ้นภายหลังจากที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แปลงถูกกำหนดให้อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนมาแล้วหลายปี เป็นพฤติการณ์ที่ส่อแสดงว่าทำขึ้นโดยอุบายฉ้อฉลเพียงเพื่อประสงค์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องห้ามมิให้คิดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ดินที่สูงขึ้นเพราะเหตุนี้ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 24 (2) จึงต้องถือว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับนั้น ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แปลงที่จะต้องเวนคืนไม่มีส่วนใดอยู่ติดทางสาธารณะหรือทางภาระจำยอม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ 9,442,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.