คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามด้วยความสมัครใจเอง อ้างว่ายังมีสิทธิที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) กรณีเป็นเรื่องผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องสอดถือเป็นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดว่าผู้ต้องสอดยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น แต่คำร้องสอดหาได้แสดงเช่นที่กล่าวมาแล้วไม่ จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้รับไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 589 จำเลยได้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์บางส่วน และทำการปลูกสร้างบ้านเลขที่ 69 ลงบนที่ดินของโจทก์ดังกล่าว ต่อมาโจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินของโจทก์ จึงบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายครอบครัวออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์อาจนำที่ดินบางส่วนดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่าได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 69 กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายครอบครัวและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า บ้านพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดโดยปลูกสร้างขึ้นโดยความยินยอมของโจทก์นานนับสิบปีแล้ว โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากโจทก์ชนะคดีย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ร้องสอดจึงขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 โดยมีสิทธิที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องสอด โดยให้เหตุผลว่าคำร้องของผู้ร้องสอดไม่มีคำขอบังคับอย่างใด จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องโดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามด้วยความสมัครใจเอง อ้างว่ายังมีสิทธิที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) กรณีเป็นเรื่องผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องสอดถือเป็นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดว่าผู้ร้องสอดยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแต่คำร้องสอดหาได้แสดงเช่นที่กล่าวมาแล้วไม่ จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share