แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องได้รับอุบัติเหตุขาหักเพียงใส่เหล็กดามไว้ เท่านั้น ไม่ถึงกับไม่สามารถควบคุมดูแลกิจการรถยนต์ โดยสิ้นเชิง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องมาเอารถยนต์ ของกลางไปใช้ซึ่งผู้ร้องในฐานะผู้ประกอบการขนส่งย่อมจะต้อง ทราบดีและน่าจะตักเตือนมิให้จำเลยนำไปบรรทุกน้ำหนัก เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกได้แต่ผู้ร้องก็หาได้กระทำไม่ อีกทั้งผู้ร้องก็ไม่เคยปรากฏตัวในชั้นสอบสวน พฤติการณ์ตามคำร้องและทางนำสืบของผู้ร้องเห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และสั่งให้ริบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-1730 นครนายก ซึ่งเป็นรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์บรรทุกของกลางคันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมกับจำเลยหรือเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยกระทำการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราแต่อย่างใดก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 1 เดือน จำเลยมีเหตุขัดสนเรื่องเงิน จึงได้มาขอยืมรถยนต์ของกลางจากผู้ร้องไปรับจ้าง ผู้ร้องไม่ทราบว่าจำเลยจะนำรถยนต์ของกลางไปกระทำผิด ขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางคันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า รถยนต์บรรทุกของกลางมิใช่กรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง หากฟังได้ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องก็รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และจำเลยเป็นบุตรของผู้ร้อง คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยพยานผู้ร้องว่า จำเลยเช่ารถยนต์ของกลางจากผู้ร้องเดือนละ 20,000 บาท ในขณะเกิดเหตุที่จำเลยขับรถยนต์ของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้ร้องขาหักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแต่ตามคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวปรากฏว่าขัดกับคำร้องของผู้ร้องที่อ้างว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน จำเลยมีเหตุขัดสนเรื่องเงิน จึงได้มาขอยืมรถยนต์ของกลางจากผู้ร้องไปรับจ้างศาลฎีกาเห็นว่า การร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 เป็นการใช้สิทธิทางศาลอย่างหนึ่ง ผู้ร้องต้องกระทำการโดยสุจริต หากผู้ร้องให้จำเลยเช่ารถยนต์ของกลางไปจริงผู้ร้องน่าจะเคยติดต่อขอรับรถยนต์ของกลางคืนจากพนักงานสอบสวนเพราะไม่มีเหตุผลที่จะต้องปกปิด แต่จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสวัสดิ์ พนักงานสอบสวน ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเคยไปขอรับคืนรถยนต์ของกลางในฐานะผู้ให้เช่าแต่อย่างใด ทั้ง ๆที่ร้อยตำรวจเอกสวัสดิ์อ้างว่าผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อพิเคราะห์ถึงภูมิลำเนาของผู้ร้องซึ่งอยู่บ้านเลขที่ 38/1 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านพริกอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก กับจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนาจังหวัดนครนายกตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ร.4 แสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านและตำบลเดียวกัน อีกทั้งจำเลยกระทำความผิดในท้องที่อำเภอบ้านนาอันเป็นท้องที่ที่เดียวกับภูมิลำเนาของผู้ร้องด้วย จำเลยเป็นบุตรของผู้ร้อง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เมื่อเกิดกรณีที่จำเลยถูกจับพร้อมกับถูกยึดรถยนต์ของกลางเช่นนี้ แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้สั่งหรือเป็นผู้จ้างวานใช้จำเลยบรรทุกดินลูกรังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อได้ว่า ผู้ร้องจะต้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปบรรทุกดินลูกรังน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว ที่ผู้ร้องฎีกาว่าขณะจำเลยถูกจับกุม ผู้ร้องป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้เป็นผู้ควบคุมดูแลรถยนต์ของกลางนั้น เห็นว่า ผู้ร้องได้รับอุบัติเหตุขาหักเพียงใส่เหล็กดาม ไว้เท่านั้น ไม่ถึงกับไม่สามารถควบคุมดูแลกิจการรถยนต์โดยสิ้นเชิง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องเอารถยนต์ของกลางไปใช้ซึ่งผู้ร้องในฐานะผู้ประกอบการขนส่ง ย่อมจะต้องทราบดีและน่าจะตักเตือนมิให้จำเลยนำไปบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกได้ แต่ผู้ร้องก็หาได้กระทำแต่อย่างใดไม่อีกทั้งผู้ร้องก็ไม่เคยปรากฏตัวในชั้นสอบสวน พฤติการณ์ตามคำร้องและทางนำสืบของผู้ร้องเห็นได้ว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของ ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน