คำสั่งคำร้องที่ 695-696/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 276 นั้น คดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทใดบ้าง ประกอบกับในปัจจุบันยังไม่ได้จัดตั้งศาลปกครองจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งคดีนี้ไปให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ไม่มีเหตุที่จะรอพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา (อันดับ 138)

คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีนี้เป็นคดีปกครอง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 276บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการกับเอกชน กรณีจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกาศใช้บังคับแล้วคดีปกครองที่ยังไม่ถึงที่สุดและค้างพิจารณาอยู่นั้น ศาลฎีกาจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้หรือไม่และศาลฎีกาต้องส่งคดีค้างพิจารณาดังกล่าวไปให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือไม่ เพื่อให้การเป็นไปด้วยความถูกต้อง โดยไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นผลให้ใช้บังคับมิได้ตามบทบัญญัติมาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540 โจทก์ทั้งสองจึงอาศัยความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540 มาตรา 264 ของศาลฎีกาได้โปรดรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปด้วย

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 276 นั้น คดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทใดบ้าง ประกอบกับในปัจจุบันยังไม่ได้จัดตั้งศาลปกครองจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งคดีนี้ไปให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะรอพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสอง ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใดให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสอง ต่อคำร้องให้เป็นพับ”

Share