คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1770/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโจทก์จ่ายเงินค่าจองการติดตั้งโทรศัพท์คืนจำเลยที่ 1 เป็นการซ้ำซ้อนจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนพนักงานของโจทก์เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 อยู่ในข่ายต้องรับผิด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2518 แม้จะมีข้อขัดแย้งอันเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งโจทก์มีความเห็นไปทางคณะกรรมการบริหารงานด้านปฏิบัติการ แต่ในที่สุดก็ยอมรับและปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนจึงต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2518 โจทก์ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก แล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามฎีกาโจทก์เห็นเป็นการสมควรที่จะหยิบยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกว่าคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อนี้ฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทราบเรื่องการกระทำความผิดหรือการกระทำอันละเมิดต่อโจทก์ ที่ทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงิน 300,000 บาท เป็นค่าของการติดตั้งโทรศัพท์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการซ้ำซ้อนเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2518 โจทก์จึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติงานของพนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินรายนี้ เพื่อหาตัวผู้ที่จะต้องรับผิดในทางแพ่งตามบันทึกลงวันที่ 13 และวันที่ 18 สิงหาคม 2518 เอกสารหมาย จ.16 จ.17 คงเหลือปัญหาที่จะต้องพิจารณาอยู่ที่ว่า โจทก์รู้ถึงตัวผู้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำอันละเมิดต่อโจทก์เมื่อใด

โจทก์นำสืบว่า ผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่โจทก์ตั้งชุดแรกลงความเห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อชอบที่จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.38 แต่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานด้านปฏิบัติการเรียกชื่อย่อว่า ก.บ.ป. เห็นว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่ควรต้องรับผิด และยังมีความเห็นต่อไปว่า ยังมีอีกเป็นบางคนที่อยู่ในข่ายควรได้รับการสอบสวน ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.18 จ.19

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 นำสืบว่า โจทก์รู้ถึงตัวผู้ที่จะต้องรับผิดว่าได้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2518 ตามเอกสารหมาย จ. 38 เป็นต้นมา

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เอกสารหมาย จ.38 เป็นบันทึกการสอบสวนของคณะกรรมการที่โจทก์ตั้งขึ้น เพื่อทำการสอบสวนหาตัวผู้ที่จะต้องรับผิด ซึ่งผลของการสอบสวนของคณะกรรมการดังกล่าวได้ระบุชัดถึงตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตกอยู่ในข่ายที่จะต้องเป็นผู้รับผิดที่โจทก์ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.38 เป็นเพียงความเห็นเสนอถึงพันเอกพักตร์ พุกกะคุปต์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ (อฝธ.) แล้วพันเอกพักตร์ พุกกะคุปต์ จึงได้ทำบันทึกเสนอขึ้นมายังโจทก์โดยผ่านนายชลอ มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการ (อสอ.) ตามขั้นตอนนายบุญชู เพียรพานิช ในฐานะผู้อำนวยการ โจทก์นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานด้านปฏิบัติการ (ก.บ.ป.) ผลของการประชุมที่ประชุมมีมติให้ตัดจำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการที่โจทก์แต่งตั้งขึ้น และเมื่อมีการทบทวนมติของคณะกรรมการทั้งสองคณะกรรมการแต่ละคณะต่างมีความเห็นยืนยันมติเดิมของตน ซึ่งนายบุญชู เพียรพานิช ผู้อำนวยการโจทก์ได้ทำบันทึกรับทราบและสรุปผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารงานด้านปฏิบัติการ (ก.บ.ป.) ตามบันทึกลงวันที่ 9 มีนาคม 2519 เอกสารหมาย จ.19 แสดงว่าก่อนหน้านี้นายบุญชู เพียรพานิช ผู้อำนวยการ โจทก์ยังไม่แน่ใจถึงตัวบุคคลผู้ที่จะต้องรับผิด เพิ่งจะมาทราบถึงตัวผู้ที่ต้องรับผิดเมื่อวันที่ 8 หรือวันที่ 9 มีนาคม 2519 ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.19 นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตัวนายบุญชู เพียรพานิชผู้อำนวยการของโจทก์เองก็เบิกความตอบข้อถามค้านยืนยันอยู่ว่า ได้ทราบรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนซึ่งได้ระบุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องรับผิด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2518 ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.38 ซึ่งตามบันทึกเอกสารฉบับนี้ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะแสดงและให้ถือได้ว่า โจทก์ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงตัวผู้ที่จะต้องรับผิดอันพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว แม้จะมีข้อขัดแย้งอันเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งโจทก์มีความเห็นไปทางคณะกรรมการบริหารงานด้านปฏิบัติการ (ก.บ.ป.) ก็ตาม แต่ในที่สุดก็ยอมรับและปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนตามบันทึกเอกสารหมาย จ.38 จึงต้องถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่นั้นมา โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี คดีเฉพาะจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก แล้ว ข้ออ้างฎีกาของโจทก์หาเป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อที่จะขยายอายุความไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 965/2518 ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ นายผล คลังทรัพย์ กับพวก จำเลยที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงคดีดังกล่าวไม่ตรงกับคดีนี้

ส่วนข้อฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผิดสัญญาจ้างและสัญญาตัวแทนด้วยนั้น เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง และคำขอบังคับให้ลูกจ้างต้องรับผิดเพราะเหตุแห่งการกระทำอันละเมิดของลูกจ้างต่อนายจ้าง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการผิดสัญญาจ้างหรือสัญญาตัวแทน จะนำอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องในเรื่องการผิดสัญญามาใช้บังคับแก่คดีหาได้ไม่ กรณีของโจทก์เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแก่มูลละเมิด อยู่ในบังคับต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ”

พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share