คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ เพราะจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายนั้น เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 แล้ว และอยู่ระหว่างส่งสำเนาให้โจทก์แก้ คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งจำหน่ายคดีโดยศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ แต่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรสั่งเรื่องดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดให้แก่จ่าสิบตำรวจ ก. ผู้ล่อซื้อโดยมีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ผู้ล่อซื้อแล้ว จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า ” จำหน่าย ” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เป็นที่เห็นได้ว่า แม้เป็นการแจกหรือให้ซึ่งไม่มีค่าตอบแทน ก็ถือว่าเป็นการจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ล่อซื้อได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตกลงซื้อขายกันจากฝ่ายจำเลยแล้ว แม้จะยังไม่ได้ชำระราคาและตรวจนับเมทแอมเฟตามีนของกลางก่อน ก็เป็นความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) สำเร็จ โดยมิพักต้องวินิจฉัยในแง่กฎหมายแพ่ง
ปัญหาว่าการกระทำความผิดใดจะเป็นความผิดสำเร็จหรือเป็นเพียงขั้นพยายามกระทำความผิด เป็นปัญหา ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้โจทก์จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ลงโทษได้เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่สมควร วางบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง
จำเลยที่ 3 ซึ่งให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดและระหว่างถูก คุมขังในเรือนจำจำเลยที่ 3 รู้ตัวว่าใกล้จะตายได้วานผู้มีชื่อเขียนจดหมายถึงจำเลยที่ 1 ขอโทษที่เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย และรับว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดเพียงคนเดียว แต่คดีในส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องอาศัยคำเบิกความของจำเลยที่ 3 มาเป็นพยานหลักฐานประกอบและแม้จำเลยที่ 3 จะเขียนจดหมายมีข้อความดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ก็ไม่มีผลให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบต่อศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ ริบเมทแอมเฟตามีน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ ๔๐ ปี จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒๖ ปี ๘ เดือน และจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๒๐ ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับ จำเลยที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๑)
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็น กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๔๐ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒๖ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ ๓ เสียจากสารบบความเพราะจำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตายนั้น เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ แล้ว และอยู่ระหว่างส่งสำเนาให้โจทก์แก้ คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งจำหน่ายคดีโดยศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ ๓ จากสารบบความเสีย แต่เนื่องจากคดีนี้ได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งเรื่องดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดย ไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๑) จึงให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ ๓ เสียจากสารบบความ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๒ หรือไม่ … เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้มีจำนวนถึง ๖,๘๐๐ เม็ด เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายที่มีโทษสูง ผู้กระทำความผิดย่อมต้องปกปิดเป็นความลับ ถ้าจำเลยที่ ๑ มิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำ ความผิดก็ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้กระทำความผิดจะกล้าให้จำเลยที่ ๑ ร่วมเดินทางมารู้เห็นด้วย ในชั้นจับกุมจำเลยที่ ๑ก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๑ ก็ให้การรับสารภาพโดยมีรายละเอียดว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ ๘ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ซึ่งขับรถโดยสารสายเดียวกับจำเลยที่ ๑ มาบอกให้หาเมทแอมเฟตามีน เพราะมีผู้ติดต่อ ขอซื้อชื่อเฮียสมศักดิ์ให้ราคาดี จำเลยที่ ๑ ไปติดต่อกับนายประดิษฐ์ได้เมทแอมเฟตามีนมา ๗ ถุง แล้วร่วมกับจำเลยที่ ๓ นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อที่สำนักงานขนส่งจังหวัดราชบุรีแต่ผู้ซื้อให้หามาอีก จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงกลับไปหานายประดิษฐ์ให้หาเมทแอมเฟตามีนมาเพิ่ม จำเลยที่ ๓ ขับรถยนต์ไปกับนายประดิษฐ์และกลับมาพร้อมจำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยทั้งสามกับนายประดิษฐ์จึงร่วมเดินทางนำเมทแอมเฟตามีน ๓๔ ถุง ไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อที่สถานีบริการน้ำมันโมบิล โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้ซื้อ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้นำถุงเมทแอมเฟตามีนที่ซ่อนไว้มามอบให้แก่ผู้ซื้อ ตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทปฐมพร ลือเสียง (ขณะเบิกความ ยศร้อยตำรวจเอก) พนักงานสอบสวนกองกำกับการ ๒ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาเบิกความรับรอง พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่และไม่ปรากฎว่าเคยรู้จักจำเลยที่ ๑ มาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ ๑ ให้ต้องรับโทษโดยปราศจากมูลความจริง คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๒ พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกตามที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวเป็นการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดให้แก่จ่าสิบตำรวจกฤษดาพยานโจทก์ผู้ล่อซื้อโดยมีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ผู้ล่อซื้อแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ตามฟ้องของโจทก์แล้ว ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จเพราะตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจกฤษดาว่าเมื่อรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ ๒ ยังไม่ทันได้มีการตรวจนับจำนวน เพียงแต่จ่าสิบตำรวจกฤษดาถือถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางไปที่รถยนต์และจะจ่ายเงินแก่จำเลยทั้งสาม เจ้าพนักงานตำรวจก็เข้าจับกุมจำเลยทั้งสามเสียก่อน จึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) เท่านั้น นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ” จำหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เป็นที่เห็นได้ว่า แม้เป็นการแจกหรือให้ ซึ่งแสดงว่าไม่มีค่าตอบแทน ก็ถือว่าเป็นการจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ดังนั้นเมื่อจ่าสิบตำรวจกฤษดาได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตกลงซื้อขายกันจากฝ่ายจำเลยแล้ว แม้ยังไม่ได้ชำระราคาและตรวจนับเมทแอมเฟตามีนของกลางก่อนก็เป็นความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) สำเร็จแล้ว โดยมิพักต้องวินิจฉัยในแง่กฎหมายแพ่ง และแม้โจทก์จะมิได้ฎีกา แต่ปัญหาว่าการกระทำความผิดใดจะเป็นความผิดสำเร็จหรือเป็นเพียงขั้นพยายามกระทำความผิด เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจ ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๒ ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๒๒๕ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษได้เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕ แต่เห็นสมควรวางบทลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เสียให้ถูกต้อง ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม จ่าสิบตำรวจกฤษดาเบิกความว่าจำเลยที่ ๑ พูดว่า “เฮ้ยมึงหลอกกูมาได้ไง” แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า จ่าสิบตำรวจกฤษดาและนายดาบตำรวจสุภณติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ ๓ มาก่อน จำเลยที่ ๑ เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องในวันเกิดเหตุตามที่จำเลยที่ ๑ ให้การไว้ในชั้นสอบสวน คำพูดของจำเลยที่ ๑ ในขณะจับกุมน่าจะเป็นการตัดพ้อผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ไม่มีผลให้ รับฟังถึงขนาดว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาเบิกความซัดทอดว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำความผิดด้วยเพื่อให้จำเลยที่ ๓ รับโทษน้อยลง ไม่อาจรับฟังคำซัดทอดของจำเลยที่ ๓ มาใช้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้และระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำจำเลยที่ ๓ รู้ตัวว่าใกล้จะตายได้วานผู้มีชื่อเขียนจดหมายถึงจำเลยที่ ๑ ขอโทษที่เบิกความว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำความผิดด้วย และรับว่าจำเลยที่ ๓ กระทำความผิดคนเดียว ย่อมรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ในส่วนการกระทำของจำเลยที่ ๑ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้โดยไม่ต้องอาศัยคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ ซึ่งให้การรับสารภาพมาเป็นพยานหลักฐานประกอบดังได้วินิจฉัยมาแล้ว และแม้จำเลยที่ ๓ จะเขียนจดหมายมีข้อความ ดังที่จำเลยที่ ๑ อ้าง ก็ไม่มีผลให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบต่อศาลดังได้วินิจฉัยมาแล้วเช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์

Share