คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9244/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า “จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งได้รับมอบเงิน 116,620 บาท จากผู้เสียหายไว้ในความครอบครองให้โอนเข้าบัญชีของผู้มีชื่อในธนาคาร ขณะที่จำเลยกับพวกครอบครองเงินจำนวนนั้นของผู้เสียหายเป็นของตนเองโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอก” โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบข้อสำคัญของความผิดฐานยักยอกว่า จำเลยกับพวกกระทำการเบียดบังทรัพย์นั้น ซึ่งมีความหมายชี้เฉพาะถึงพฤติการณ์ที่ผู้กระทำความผิดแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าตนกับพวกเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ แม้โจทก์จะบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกับพวกกระทำการเช่นนั้นโดยทุจริต แต่การกระทำโดยทุจริตกับการเบียดบังเป็นองค์ประกอบคนละข้อในความผิดฐานนี้ จึงมีความแตกต่างกันอยู่ในตัว และโดยทั่วไปการทุจริตก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเบียดบัง เพราะทุจริตเป็นแต่เจตนาพิเศษของการกระทำความผิดซึ่งแสดงให้เห็นว่าเบียดบังเอาทรัพย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเท่านั้น ฟ้องของโจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นก็ตาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 ให้จำเลยคืนเงินจำนวนนั้นแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายเศรษฐกิจและทรัพยากรรักษาการแทนอธิบดีอัยการเขต 6 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 116,620 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่ากระทำความผิดฐานยักยอกโดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก” ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงต้องทำเป็นหนังสือ และมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ที่ขอให้ลงโทษแก่จำเลยไว้ในฟ้องนั้นให้ครบถ้วน จะขาดข้อเท็จจริงประการใดอันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดมิได้ มิฉะนั้นฟ้องย่อมไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องไว้เพียงว่า “จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งได้รับมอบเงิน 116,620 บาท จากนายไกรวุฒิ ผู้เสียหายไว้ในความครอบครองให้โอนเข้าบัญชีของผู้มีชื่อในธนาคาร และขณะที่จำเลยกับพวกครอบครองเงินจำนวนนั้นของผู้เสียหายเป็นของตนเองโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอก” โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบข้อสำคัญของความผิดฐานยักยอกว่า จำเลยกับพวกกระทำการเบียดบังทรัพย์นั้น ซึ่งมีความหมายชี้เฉพาะถึงพฤติการณ์ที่ผู้กระทำความผิดแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าตนกับพวกเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ แม้โจทก์จะบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกับพวกกระทำการเช่นนั้นโดยทุจริต แต่การกระทำโดยทุจริตกับการเบียดบังเป็นองค์ประกอบคนละข้อในความผิดฐานนี้ จึงมีความแตกต่างกันอยู่ในตัว และโดยทั่วไปการทุจริตก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเบียดบัง เพราะทุจริตเป็นแต่เจตนาพิเศษของการกระทำความผิดซึ่งแสดงให้เห็นว่าเบียดบังเอาทรัพย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเท่านั้น ฟ้องของโจทก์จึงมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ดังกล่าว และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นก็ตาม ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share