คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร พร้อมคำขอบังคับจำเลยเพียงเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจคำฟ้อง เพื่อที่จะให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์จำนวนเท่าไร ชำระให้โจทก์แล้วเท่าไรเหลือหนี้อีกเท่าไรที่จำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยโดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทมาด้วยนั้น เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้วทั้งการที่จะพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเฉพาะคำฟ้องโจทก์เป็นสำคัญว่าบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยให้เข้าใจได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172หรือไม่ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำให้การต่อสู้ของจำเลยตลอดถึงการนำสืบของโจทก์ในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด
จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามราคาที่แท้จริง 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์จำเลยย่อมมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยในราคา 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งต่ำกว่าที่ซื้อขายสินค้ากันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรในการนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร แม้ผู้เสียภาษีอากรจะเป็นจำเลยผู้นำเข้าและยังไม่ถูกเจ้าพนักงานกล่าวหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27,99 ก็ตาม แต่เมื่อเห็นได้ชัดว่า โจทก์และจำเลยประกอบธุรกิจมีเจตนาเอาเปรียบประเทศไทยถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกัน โจทก์ไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวมาเรียกร้องเงินเต็มจำนวน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์อันเป็นจำนวนที่โจทก์ร่วมมือกับจำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรรวมอยู่ด้วยได้ จำเลยคงรับผิดชำระให้โจทก์เฉพาะค่าสินค้า 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรแล้วพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดเท่านั้น
อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์มิได้มีอัตราคงที่แน่นอน จะมากขึ้นหรือน้อยลงแตกต่างกันในแต่ละวันย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจเมื่อจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่ตกลงซื้อขายกัน หรือหากจะชำระเป็นเงินบาท จำเลยก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196ซึ่งจำเลยอาจได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในแต่ละวันได้ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ เพราะโจทก์จะได้รับชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอ แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท และศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินโดยไม่ได้ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะหากอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินต่อ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เกิน 18 บาท คำพิพากษาของศาลในส่วนนี้จะเกินคำขอของโจทก์จึงสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย มีสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ จำเลยติดต่อซื้อสินค้าจำพวกน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่องและน้ำยาชนิดต่าง ๆ ซึ่งโจทก์จัดจำหน่ายผ่านบริษัทฮาวท์ตันสิงคโปร์ จำกัด สำนักงานสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2537 โจทก์ได้จัดส่งผลิตภัณฑ์ให้จำเลยโดยวิธีขนส่งทางเรือและทางอากาศหลายครั้ง แต่จำเลยชำระราคาเพียงบางส่วนผิดนัดไม่ชำระตามระยะเวลาที่ถึงกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ (อินวอยซ์)แต่ละฉบับเป็นจำนวน 8 ฉบับ รวมราคาสินค้าเป็นเงิน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์และจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน8,793.85 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 209,639.87 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 18 บาท เป็นเงินไทยทั้งสิ้น 3,683,517.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,683,517.60 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 3,525,228.30 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยติดต่อค้าขายหรือมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเคยติดต่อค้าขายกับบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด โดยตกลงให้จำเลยเป็นตัวแทนขายสินค้าในประเทศไทย ใบแจ้งหนี้ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3ถึงหมายเลข 10 เป็นเอกสารเท็จ ซึ่งโจทก์ทำขึ้นใหม่ โดยระบุราคาขายสินค้าต่อหน่วยสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง ปลอมกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงิน ระบุจำนวนสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ส่งมาจริง ปลอมเลขที่ใบแจ้งหนี้ เอกสารใบแจ้งหนี้ที่ถูกต้องตามที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าตามใบแจ้งหนี้ ท้ายคำให้การหมายเลข 3 ถึงหมายเลข 10 รวมเป็นเงินค่าสินค้า146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งใบแจ้งหนี้ดังกล่าวได้ผ่านวิธีการเสียภาษีขาเข้าทางศุลกากรแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และจำเลยได้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 และ 4 เป็นเงิน 21,310.37 ดอลลาร์สิงคโปร์ คงค้างชำระเพียง 125,293.57 ดอลลาร์สิงคโปร์ การที่โจทก์ทำเอกสารปลอมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าสูงกว่าความเป็นจริง และเรียกเงินค่าสินค้าที่จำเลยได้ชำระไปแล้วบางส่วนอีก การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับ 18 บาท จำเลยไม่อาจทราบได้ว่าคิดอย่างไร จากมาตรฐานไหน เวลาใด ทำให้จำเลยเสียเปรียบหลงในข้อต่อสู้ไม่สามารถรู้ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 131,354.96 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ และในเวลาที่ใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 125,293.57 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเดียวกัน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าเมื่อปี 2537 จำเลยได้นำเข้าสินค้าจำพวกน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่องและน้ำยาชนิดต่าง ๆจากบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานสาขาของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยรวม 8 ครั้ง เมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้มาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยได้นำใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 (เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ถึง 10)รวมเป็นเงิน 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ไปผ่านพิธีการเสียภาษีนำเข้าที่กรมศุลกากรต่อมาจำเลยได้โอนเงินผ่านธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางจาก ให้แก่โจทก์ สำนักงานสาขาสิงคโปร์เป็นการชำระหนี้ไปที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์จำนวน21,310.37 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตามเอกสารหมาย จ.51

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร พร้อมคำขอที่จะบังคับจำเลยเพียงเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจคำฟ้องเพื่อที่จะได้ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายให้เห็นว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โดยระบุจำนวนเงินราคาสินค้าว่าเป็นเท่าไร จำเลยชำระให้โจทก์แล้วจำนวนเท่าไร เหลือหนี้ค่าสินค้าอีกเท่าไรที่จำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ย โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทมาด้วยนั้น ถือเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการฟ้องขอบังคับให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงอื่นใดอีก การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นใบแจ้งหนี้ปลอม ไม่ใช่ใบแจ้งหนี้จริงที่จำเลยได้รับจากบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด การที่โจทก์นำนางสาวชูชาน ตัน พนักงานธุรการและทำบัญชีของบริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด มาเบิกความว่า การซื้อขายกันระหว่างโจทก์และจำเลยเท่าที่ปฏิบัติกันมา โจทก์จะออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลย 2 ชุด ชุดแรกใช้เป็นหลักฐานในการนำเข้าสินค้าซึ่งราคาจะต่ำกว่าราคาจริง ส่วนชุดที่สองเป็นชุดที่กำหนดราคาสินค้าไว้จริงตามที่ซื้อขายกัน ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้ศาลรับฟังโดยโจทก์มิได้ระบุในคำฟ้องทำให้จำเลยหลงต่อสู้นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่ามิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและเป็นข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาที่โจทก์จะนำพยานเข้าสืบให้เห็นถึงความมีอยู่ที่แท้จริงของใบแจ้งหนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าไม่ใช่เป็นเอกสารปลอมดังเช่นที่จำเลยให้การต่อสู้ได้การที่จะพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเฉพาะคำฟ้องโจทก์เป็นสำคัญว่าบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยให้เข้าใจได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 หรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำให้การต่อสู้ของจำเลยตลอดถึงการนำสืบของโจทก์ในชั้นพิจารณาเช่นที่จำเลยฎีกาดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำฟ้องของโจทก์ว่าไม่เคลือบคลุมนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่าใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13 (เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 10) เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยได้นำใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 ไปเสียภาษีอากรนำเข้าที่กรมศุลกากรถูกต้องแล้ว ทั้งใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13 กับเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 ก็มีรายละเอียดของรายการไม่ตรงกัน การที่จำเลยนำสินค้าจากโจทก์ข้ามาตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 ก็ในฐานะเป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ จะเห็นได้จากคำเบิกความของนางสาวชูชาน ตัน พยานโจทก์ว่าโจทก์เป็นผู้ชำระค่าระวางขนส่งและค่าเบี้ยประกันภัยเสร็จแล้วจึงจะส่งสินค้ามาให้จำเลยอันแสดงว่าโจทก์ยอมเสี่ยงออกค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าเข้ามาให้จำเลยขายให้ลูกค้าในประเทศไทยก่อนแล้วจึงค่อยเก็บเงินจากลูกค้าส่งให้โจทก์ภายหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่เชื่อถือไว้ใจกัน จำเลยได้เพียงค่านายหน้าเท่านั้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์ การที่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยด้วยราคาสินค้าต่ำกว่าที่เป็นจริงนั้น เป็นประโยชน์ของโจทก์เองที่ต้องเสียภาษีนำเข้าต่ำจำเลยไม่ได้ประโยชน์อันใด จึงไม่จำเป็นที่จำเลยจะขอให้โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ 2 ชุดใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13 เป็นเอกสารที่โจทก์ปลอมขึ้นมาฟ้องจำเลยนั้นเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยได้นำเข้าสินค้าจากโจทก์สาขาประเทศสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยหลายปีแล้ว ซึ่งในการติดต่อนำเข้าสินค้าจากโจทก์ดังกล่าวนั้น นายธวัชชัยเทียนทองทิพย์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยยอมรับว่านางสาวชูชาน ตัน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการและทำบัญชีของโจทก์ที่สาขาสิงคโปร์เป็นบุคคลที่นายธวัชชัยติดต่อทำการค้าด้วย ดังนั้น ในการที่จำเลยสั่งนำเข้าสินค้าจากโจทก์มาจำหน่ายในประเทศไทยจึงอยู่ในความรู้เห็นโดยตรงของนางสาวชูชาน ตัน และนายธวัชชัยด้วยกัน ที่จำเลยให้การว่าติดต่อกับโจทก์ในฐานะเป็นนายหน้า และที่นายธวัชชัยเบิกความถึงวิธีการนำเข้าสินค้าว่า บริษัทฮาวท์ตัน สิงคโปร์ จำกัด จะให้จำเลยเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในประเทศไทยก่อน หลังจากนั้นจำเลยจึงหักกำไรเป็นอัตราร้อยละจากการขายลักษณะคล้ายให้ค่านายหน้าแก่จำเลย เมื่อหักเงินค่านายหน้าออกแล้วจะชำระเงินที่เหลือแต่ละครั้งนั้น ย่อมแสดงว่ากำไรในการขายสินค้าในแต่ละครั้งเมื่อหักค่านายหน้าดังที่นายธวัชชัยเบิกความแล้ว จำเลยจะต้องส่งเงินให้แก่โจทก์ทั้งต้นทุนของสินค้าและกำไรที่เหลือจากที่จำเลยหักค่านายหน้าแล้วให้แก่โจทก์ แต่ตามทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหลักฐานการหักค่านายหน้าดังกล่าวมาแสดงสนับสนุน เมื่อพิจารณาหลักฐานการชำระเงินให้โจทก์ตามที่จำเลยอ้างตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.17 และที่โจทก์อ้างตามเอกสารหมาย จ.21 จ.22 จ.31 จ.39 จ.48 และ จ.51 กลับปรากฏว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามจำนวนเงินในใบแจ้งหนี้เท่านั้น ส่วนที่นางสาวชูชาน ตัน พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ชำระค่าระวางขนส่งและค่าเบี้ยประกันภัยเสร็จแล้วจึงส่งสินค้ามาให้จำเลยนั้น ก็มิใช่เป็นการที่โจทก์เสี่ยงภัยออกค่าใช้จ่ายส่งสินค้ามาให้จำเลยอันจะทำให้เห็นว่าจำเลยเป็นเพียงนายหน้าขายสินค้าให้โจทก์แต่อย่างใด เพราะตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.17 จ.19 จ.25 จ.27 จ.33 จ.35 จ.37 จ.44 จ.46 และ ล.3 ถึง ล.9 ต่างระบุเป็นการซื้อขายราคาซีไอเอฟ กรุงเทพ (CIF. BANGKOK) ซึ่งหมายถึงการซื้อขายสินค้าที่ผู้ขายจะต้องรับผิดชำระค่าระวางขนส่งและค่าประกันภัยสินค้าจากท่าต้นทางถึงท่าปลายทางด้วย โจทก์ผู้ขายสินค้าจึงชำระค่าระวางขนส่งและค่าประกันภัยสินค้า ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้าที่ซื้อขายกันที่ท่าปลายทางกรุงเทพมหานครเท่านั้น นางสาวชูชาน ตัน พยานโจทก์ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์มาเป็นเวลาประมาณ 8 ปี แล้ว ประกอบกับเมื่อสินค้าเข้ามาถึงประเทศไทย จำเลยก็เป็นผู้รับผิดชำระค่าภาษีนำเข้าที่กรมศุลกากรตามเอกสารหมาย ล.19 และจากคำเบิกความของนายธวัชชัยพยานจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เรียกร้องให้โจทก์ต้องรับผิดชำระคืนให้แก่จำเลยเพราะเหตุที่โจทก์เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยให้จำเลยเป็นนายหน้าขายสินค้าให้โจทก์แต่อย่างใด พฤติการณ์จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ที่สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์มิใช่เป็นเพียงนายหน้าขายสินค้าให้แก่โจทก์ดังเช่นที่จำเลยฎีกา ส่วนที่โจทก์ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลย 2 ชุด โดยชุดหนึ่งออกให้ราคาต่ำกว่าที่ซื้อขายกันจริงดังเช่นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหรือไม่นั้น โจทก์มีนางสาวชูชาน ตัน มาเบิกความเป็นพยานถึงการออกใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าให้จำเลยว่า โจทก์ออกให้จำเลย 2 ชุด โดยชุดแรกออกใบแจ้งหนี้ราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามคำขอของนายธวัชชัยเพื่อให้จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้า สำหรับชุดที่สองเป็นใบแจ้งหนี้ตามราคาสินค้าที่แท้จริงและจำเลยจะชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้ชุดที่สอง จึงมีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการติดต่อซื้อขายสินค้ากันระหว่างโจทก์จำเลยว่าจะมีการออกใบแจ้งหนี้ให้แก่กันดังเช่นที่นางสาวชูชาน ตัน เบิกความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาใบแจ้งหนี้และการส่งเงินชำระหนี้ค่าสินค้าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ที่โจทก์นำสืบถึงใบแจ้งหนี้จำนวน9 ครั้ง คือตามใบโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ รวมค่าธรรมเนียมการโอนเป็นเงิน 20,141.35 ดอลลาร์สิงคโปร์ เอกสารหมาย จ.21 ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้เลขที่ 4497 และ 4504 เอกสารหมาย จ.17 และจ.19 แต่เป็นจำนวนค่าสินค้าต่ำกว่าใบแจ้งหนี้เลขที่ 4497 และ 4505 ตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.20 เป็นจำนวน 11,381.20 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ ตามหลักฐานการรับเช็คของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เช็คเลขที่ 338600 เป็นเงิน 11,381 ดอลลาร์สิงคโปร์ เอกสารหมาย จ.22 เมื่อรวมกันแล้วจะเป็นเงิน 31,522.35 ดอลลาร์สิงคโปร์ น้อยกว่าหนี้ตามใบแจ้งหนี้เลขที่ 4497และ 4504 เอกสารหมาย จ.18 และ จ.20 อยู่เพียง 0.20 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่านั้นนอกจากนี้ที่จำเลยชำระค่าสินค้าให้โจทก์ตามใบแจ้งหนี้เลขที่ 4525 และ 4550 เอกสารหมาย จ.25 (จ.26) และ จ.27 (จ.28) ใบโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ รวมค่าธรรมเนียมการโอนเอกสารหมาย จ.29 และหลักฐานการรับเช็คของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เอกสารหมาย จ.31 ก็เป็นทำนองเดียวกันโดยเฉพาะโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.30 ที่ลงชื่อบุษบาซึ่งคือนางบุษบาภริยาของนายธวัชชัยกรรมการผู้จัดการจำเลยแจ้งไปยังโจทก์โดยระบุชื่อถึงนางสาวชูชาน ตัน ว่า “ได้จัดการโอนเงินตามใบอินวอยซ์เลขที่ 4525 (8,542.35) และ 4550 (13,700.15)รวม 22,242.5 เหรียญ เมื่อวันที่ 25 เมษายน และจะจัดการชำระยอดที่เหลือภายในสัปดาห์นี้” แสดงว่าจำเลยได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ตามใบแจ้งหนี้ในราคาที่ซื้อขายกันจริงตามเอกสารหมาย จ.26 และ จ.28 ยิ่งกว่านั้นตามใบโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เอกสารหมาย จ.39 ระบุเป็นการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้เลขที่ 4600, 4639 และ 4646 รวมค่าธรรมเนียมในการโอนเป็นเงิน 55,365.55ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวตรงกับที่ระบุในใบแจ้งหนี้เลขที่ 4600 เอกสารหมาย จ.33 เลขที่ 4639 เอกสารหมาย จ.35 และเลขที่ 4646 เอกสารหมาย จ.37รวมกัน แต่กลับปรากฏจำนวนเงินตามโทรพิมพ์ซึ่งระบุเลขที่ใบแจ้งหนี้ดังกล่าวที่นางบุษบามีไปถึงนางสาวชูชาน ตัน ตามเอกสารหมาย จ.40 ว่า ใบแจ้งหนี้เลขที่ 4600จำนวนเงิน 44,989.11 ดอลลาร์สิงคโปร์ เลขที่ 4639 จำนวนเงิน 18,365.75 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเลขที่ 4646 จำนวนเงิน 24,277.30 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมเป็นเงิน47,632.16 ดอลลาร์สิงคโปร์ หักยอดเงินที่มีสิทธิหักออกก่อนจำนวน 4,855.32 ดอลลาร์สิงคโปร์ แล้วคงเหลือ 82,776.84 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นราคาสินค้าตรงกับใบแจ้งหนี้เลขที่ 4600 เอกสารหมาย จ.34 เลขที่ 4639 เอกสารหมาย จ.36 และเลขที่ 4696เอกสารหมาย จ.38 ทั้งในโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.40 ดังกล่าวยังระบุไว้ตอนท้ายว่า”ยอดที่เหลือของข้างต้น (82,776.84 – 55,365.55 – 27,411.27) ซึ่งจะส่งถึงท่านภายในอังคาร” ต่อมาก็ปรากฏว่านายธวัชชัยได้สั่งจ่ายเช็คชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.41 และหลักฐานการรับเช็คของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เอกสารหมาย จ.42 ในจำนวนเงิน 37,411.2 ดอลลาร์สิงคโปร์ อันเป็นการชำระค่าสินค้าตามราคาในใบแจ้งหนี้หมาย จ.33 จ.35 และ จ.37 สุดท้ายการชำระเงินค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้เลขที่ 4684 เอกสารหมาย จ.44 (จ.45) และเลขที่ 4698 เอกสารหมาย จ.46(จ.47) จำเลยก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ตามข้อเท็จจริงในการที่จำเลยชำระเงินค่าสินค้าให้โจทก์จากการสั่งซื้อสินค้าทั้ง 9 ครั้ง ดังกล่าวนี้จึงรับฟังได้ว่า ในกรณีที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นั้น โจทก์จะออกใบแจ้งหนี้ 2 ชุด โดยชุดแรกจะระบุราคาสินค้าต่ำกว่าราคาซื้อขายกันจริงเพื่อให้จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าสินค้าที่กรมศุลกากรตามเอกสารหมาย จ.17 จ.19 จ.25 จ.27 จ.33 จ.35 จ.37 จ.44 และ จ.46 และอีกชุดหนึ่งจะระบุราคาสินค้าที่ซื้อขายกันจริงโดยจำเลยจะชำระราคาสินค้าให้โจทก์ตามใบแจ้งหนี้ชุดนี้ตามเอกสารหมาย จ.18 จ.20 จ.26 จ.28 จ.34 จ.36 จ.38 จ.45 และ จ.47 ดังนั้น เมื่อการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์จำเลยครั้งพิพาทกันเป็นคดีนี้ก็เป็นการติดต่อซื้อขายเกี่ยวเนื่องกันมาจากการซื้อขายครั้งก่อน ๆ ย่อมต้องปฏิบัติต่อกันเช่นเดิมด้วยความเชื่อถือคุ้นเคยไว้ใจกันทำให้มีเหตุรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ออกใบแจ้งหนี้ 2 ชุด คือชุดแรกตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 ระบุราคาสินค้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง เพื่อให้จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากร และชุดที่สองตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13ระบุราคาสินค้าที่ซื้อขายกันจริง โดยจำเลยจะชำระราคาสินค้าให้โจทก์ตามใบแจ้งหนี้ชุดนี้ดังเช่นเคยปฏิบัติต่อกันมา แม้ใบแจ้งหนี้ทั้งสองชุดจะมีรายละเอียดไม่ตรงกันอยู่บ้างดังเช่นที่จำเลยฎีกาก็ตาม คดีก็รับฟังได้ว่าใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13ไม่ใช่เอกสารปลอม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามราคาที่แท้จริงในใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6ถึง จ.13 ซึ่งรวมเป็นเงินค่าสินค้าทั้งสิ้น 195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ จำเลยผู้ซื้อย่อมมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากได้ความโดยแน่ชัดว่า โจทก์ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยด้วยราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อขายสินค้ากันจริงตามเอกสารหมาย ล.2ถึง ล.9 ซึ่งรวมเป็นเงิน 146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ เหตุที่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยด้วยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าซื้อขายกันจริงนั้น นางสาวชูชาน ตัน เบิกความว่า เพื่อให้จำเลยนำใบแจ้งหนี้ดังกล่าวไปเสียภาษีนำเข้า ดังนี้แม้การออกใบแจ้งหนี้เช่นนี้จะเนื่องมาจากการร้องขอของนายธวัชชัยกรรมการผู้จัดการจำเลยก็ตาม พฤติการณ์ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ได้ร่วมมือกับจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จคือต่ำกว่าที่ซื้อขายกันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรในการนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร แม้ผู้เสียภาษีอากรดังกล่าวจะเป็นจำเลยผู้นำเข้าและจำเลยก็ยังไม่ถูกเจ้าพนักงานกล่าวหากระทำผิดตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯมาตรา 27, 99 ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความแน่ชัดเช่นนี้จึงทำให้เห็นว่าโจทก์จำเลยประกอบธุรกิจมีเจตนาเป็นการเอาเปรียบประเทศไทยถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกันโจทก์จึงไม่อาจจะยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องเอาได้เต็มจำนวน195,846.02 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งมีจำนวนที่โจทก์ร่วมมือกับจำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรรวมอยู่ด้วยได้ จำเลยจึงคงรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์เฉพาะค่าสินค้าจำนวน146,603.94 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรแล้ว ซึ่งเมื่อหักจำนวน 21,310.37 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่จำเลยชำระแล้วออกจึงยังคงเหลือจำนวนที่จำเลยต้องชำระอีก 125,293.57 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดต่างจากกรณีที่ราษฎรด้วยกันที่ต่างอ้างการครอบครองเหนือที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิดีกว่ากันดังที่โจทก์ยกขึ้นมาในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินทั้งสิ้น131,354.96 ดอลลาร์สิงคโปร์นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จำเลยถึงอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระหนี้ระหว่างเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินบาทไทยว่าเป็นจำนวนเท่าใด โดยโจทก์ฎีกาว่าแม้การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจะต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ก็ตาม แต่อัตราแลกเปลี่ยนตามสถานที่และเวลาที่ใช้เงินก็ต้องกำหนดไว้แน่นอนในคำพิพากษาเพื่อจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถูกต้อง ทั้งโจทก์กล่าวอ้างอัตราแลกเปลี่ยนมาในฟ้อง1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ก็ต้องกับคำเบิกความของนางศรีวิไล สุขะพละ พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ว่าหลังปี 2537เศรษฐกิจไทยถดถอยลงและค่าเงินไทยอ่อนกว่าเงินสิงคโปร์ ปัจจุบันคือปี 2540 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์สูงกว่า 18 บาท จึงขอให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็น1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท และที่จำเลยฎีกาว่าการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองนั้น ย่อมเป็นการยากที่จำเลยจะคาดคะเนได้ว่าจะถือเอาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องอนาคต ศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แล้ว ต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อครบเวลา 120 วัน ที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่จะกำหนดได้แน่นอนซึ่งในระหว่างเดือนมิถุนายน 2537 ถึงเดือนธันวาคม2537 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 17 บาท เป็นอย่างสูงจึงขอให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์มิได้มีอัตราคงที่แน่นอน แต่จะมากขึ้นหรือน้อยลงแตกต่างกันในแต่ละวันนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งโจทก์จำเลยต่างทราบดี คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากใบแจ้งหนี้ว่า โจทก์จำเลยติดต่อซื้อขายสินค้ากันด้วยเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนั้น หากจำเลยชำระค่าสินค้าให้โจทก์ตามกำหนดเวลาที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับแล้วซึ่งอาจเป็นอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 16.70625 บาท เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2537ที่จำเลยชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้เลขที่ 4747 และ 4751 ตามเอกสารหมาย ล.21และ 51 หรืออัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 17 บาท ดังที่จำเลยฎีกา ก็เป็นการชำระเงินตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินนั้นเอง ดังนั้น เมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระค่าสินค้าให้โจทก์ตามที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระให้ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่ตกลงติดต่อซื้อขายสินค้ากัน แต่หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทแล้ว จำเลยก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามบทบัญญัติมาตรา 196 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้จำเลยอาจได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในแต่ละวันได้แต่ทั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย เพราะโจทก์ต้องได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอตามคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาว่า หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทก็ให้ชำระตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ดังนั้น คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินโดยไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์ หากอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และในเวลาใช้เงินต่อ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์เกิน 18 บาท คำพิพากษาของศาลในส่วนนี้จะเกินคำขอของโจทก์ จึงเห็นสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์”

พิพากษายืน แต่ในส่วนที่ให้จำเลยชำระเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และในเวลาใช้เงินนั้น อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 18 บาท ตามคำขอของโจทก์

Share