แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประเด็นที่ว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีข้อความและลายมือชื่อจำเลยปลอมหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในวันชี้สองสถานแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามป.วิ.พ. 243(1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาทตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจำเลยชำระต้นเงินคืนให้โจทก์เพียง 10,000 บาท คงค้างอยู่ 20,000บาท ส่วนดอกเบี้ยจำเลยไม่เคยชำระให้โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา41 เดือน จำเลยค้างค่าดอกเบี้ย 10,250 บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงินทั้งสิ้น 30,250 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้น ลายมือชื่อผู้กู้ก็ไม่ใช่ของจำเลย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่1 กันยายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน2527 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท จำเลยได้ชำระต้นเงินคืนให้โจทก์แล้ว 10,000 บาท มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นที่ว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีข้อความและลายมือชื่อจำเลยปลอมหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในวันชี้สองสถานแล้วการที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)
ปัญหาข้อต่อไปที่จะวินิจฉัยมีว่า สัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2527 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาทจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ตามเอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1เก็บไว้ที่โจทก์ สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.1 เก็บไว้ที่จำเลยหลังจากจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ประมาณ 1 เดือน จำเลยนำเงินต้นมาชำระให้โจทก์ 10,000 บาท โจทก์บันทึกไว้ในเอกสารหมาย ล.1ไม่ได้บันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.1 เพราะหาไม่พบ โจทก์บอกจำเลยว่าเอกสารหมาย จ.1 หายไป จำเลยจึงไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ค้นพบเอกสารหมาย จ.1 จึงให้ทนายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยเพิกเฉย จำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริง จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.1 ให้จำเลยสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยไม่ได้เป็นผู้กรอกข้อความลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย ศาลฎีกาเปรียบเทียบลายมือเขียนของผู้กรอกข้อความและลายมือชื่อผู้กู้ในเอกสารหมาย จ.1และ ล.1 แล้ว เห็นว่า มีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรคล้ายคลึงกัน น่าเชื่อว่าเป็นลายมือเขียนและลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์แล้วเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.1 สัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1จึงไม่ใช่เอกสารปลอมจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นั้น ประเด็นข้อที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยไม่ได้คัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละสิทธิที่จะต่อสู้ในประเด็นข้อนี้แล้ว ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น จำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ทั้งสองประเด็นดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.