คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.ม. 371 ลงโทษปรับ 60 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ม.8 ทวิ วรรคสองและ 72 ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง และให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มี โทษหนักที่สุด แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงลงโทษปรับจำเลย 60 บาท ซึ่งเป็นโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การที่ผู้เสียหายที่ 3 และ ท. เบิกความตอบโจทก์ แต่ไม่ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ ตาม ป.วิ.อ. ม.226 ประกอบกับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยเป็รผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสาม
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นอันเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงและใช้ทำอันตรายให้ถึงแก่ความตายได้ยิงผู้เสียหายทั้งสามกับพวกในระยะใกล้ และกระสุนปีนถูกผู้เสียหายทั้งสามบรเวณลำคอ อก คาง ใบหน้า และต้นแขน ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า หาใช่เพียงเจตนาทำร้าย เมื่อผู้เสียหายทั้งสามไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของจำเลยว่าฝ่ายผู้เสียหายทั้งสามได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสามในขณะนั้นตาม ป.อ.ม.72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐,๙๑,๒๘๘ และ ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗,๘ทวิ,๗๒ และ ๗๒ ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และ ๓๗๑ เป็นความผิด ๒ กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก ๑๒ ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในที่ชุมชนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการรื่นเริง ปรับ ๙๐ บาท รวมจำคุก ๑๒ ปี และปรับ ๙๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๘ ปี และปรับ ๖๐ บาท ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิวรรคสอง และ๗๒ ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงชั้นศาลฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่า คืนเกิดเหตุนายสัญญา บุญเลิศ นายวิโรจน์ พรรณนา และนายจรัสหรือจลัส พิมพ์ทอง ผู้เสียหายทั้งสาม นายสิทธิพงษ์ ถ้ำทอง นายทวีศักดิ์ มังษา นายสมคิด อำไพ และนายศักดา อำไพ กับพวก ซึ่งเป็นคนบ้านกระเอินกลุ่มหนึ่ง กับจำเลย สิบตรีสุวันชัย หารบุรุษ กับพวกซึ่งเป็นคนบ้านหนองโดนอีกกลุ่มหนึ่งต่างไปดูการแสดงหมอลำในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิโรจน์ที่วัดบ้านธาตุ เมื่อหมอลำเลิกแสดงขณะนายสิทธิพงษ์ขึ้นนั่งและสตาร์ดติดเครื่องยนตืกระบะซึ่งจอดอยู่หลังกองอำนวยการหรือประรำพิธีห่างประมาณ ๓ ถึง ๔ เมตร จะพรนายศักดาซึ่งนั่งคู่อยู่ด้านหน้าและผู้เสียหายทั้งสามกับพวกที่เหลือซึ่งนั่งอยู่ในกระบะรถกลับบ้าน มีคนร้ายซึ่งอยู่ในระยะใกล้ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงเข้าไปที่ผู้เสียหายทั้งสามกับพวกที่นั่งอยู่ในกระบะ ๑ นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายทั้งสามจนได้รับอันตรายแก่กายตามรายงานการชันสูตรบาดแผลอเกสารหมาย จ.๒ จ.๔ และ จ.๕ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายซึ่งกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาหรือไม่ สำหรับข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยพาอาวุธปืนเข้าไปในที่ชุมชนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการรื่นเริงโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับอนุญาต พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ลงโทษปรับ ๙๐ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้หนึ่งในสาม คงปรับ ๖๐ บาท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จะพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคสอง และ ๗๒ ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง และให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ก็ยังคงลงโทษปรับจำเลย ๖๐ บาท ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ซึ่งเป็นโทษปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท และไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ จำเลยฎีกาว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถจะยึกอาวุธปืนมาเป็นของกลางได้ ก็ไม่น่าจะลงโทษจำเลยได้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานในคดีไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายซึ่งใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสาม กับหากฟังว่าจำเลยเป็นคนร้าย การกระทำของจำเลยก็เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะและไม่ถึงพยายามฆ่า แต่เป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเท่านั้น เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิโรจน์หรือไพโรจน์อดีตเป็นเจ้าอาวาลวัดบ้านธาตุและเจ้าคณะตำบลธาตุ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีษะเกษ มีการแสดงหมอลำ มีกองอำนวยการหรือปะรำพิธี และจำเลยเบิกความว่า มีคนไปร่วมงานประมาณ ๕,๐๐๐ คน แสดงว่าเป็นงานใหญ่ และจุดที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากปะรำพิธีส่องมาถึงจุดที่เกิดเหตุเพียงพอที่จะทำให้คนซึ่งรู้จักกันมาก่อนมองเห็นหน้าและจำกันได้ โจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นคนบ้านหนองโตนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านกระเอินหมู่บ้านที่ผู้เสียหายที่ ๒ ที่ ๓ นายทวีศักดิ์ มังษา และนายสมคิด อำไพ พยานโจทก์ทั้งสี่อยู่เพียงประมาณ ๑ กิโลเมตร และเคยมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านกระเอิน พยานโจทก์ทั้งสี่รู้จักจำเลยมาก่อนพยานโจทก์ทั้งสี่ต่างเบิกความว่าขณะที่นายสิทธิพงษ์ ถ้ำทอง กำลังจะขับรพถยนต์กระบะออกจากจุดที่เกิดเหตุ สิบตรีสุวันชันพวกของจำเลยได้เข้าไปใช้อาวุธปืนยิงไปที่พยานโจทก์ทั้งสี่กับพวกที่อยู่ในกระบะรถ โดยผู้เสียหายที่ ๒ และที่ ๓ เบิกความว่า อาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนลูกซองสั้น นายทวีศักดิ์เบิกความว่าเป็นอาวุธปืนสั้นไม่ทราบชนิด ส่วนนายสมคิดแม้จะไม่ได้เบิกความระบุว่าเป็นอาวุธปืนประเภทใด แต่ก็เบิกความว่าจำเลยได้ชักอาวุธปืนออกมาแล้วยิงเช่นเดียวกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นอาวุธปืนสั้น ตรงกับคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวปากอื่น และแม้นายทวีศักดิ์จะมิได้เบิกความว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงนั้นจำเลยเอาออกมาจากที่ใด แต่นายทวีศักดิ์ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๑๗ ว่า จำเลยชักอาวุธปืนพกยิงใส่พวกตนเหมือนกัน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่สอดคล้องตรงกัน มีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อถือได้ การที่ผู้เสียหายที่ ๑ เบิกความว่าไม่เห็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิง ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ขัดแย้งหรือทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่เกิดข้อพิรุธและมีเหตุให้ควรสงสัยแต่อย่างใด เพราะผู้เสียหายที่ ๑ เบิกความว่าตนนั่งอยู่ในกระบะรถด้านหน้าติดหัวเก๋งรถ คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงมาจากทางท้ายกระบะด้านหลัง ขณะเกิดเหตุมีบุคคลอื่นนั่งอยู่ในกระบะอีกหลายคน จึงอาจบังทำให้ผู้เสียหายที่ ๑ มองไม่เห็นคนร้ายได้ การที่ผู้เสียหาย ๓ และนายทวีศักดิ์มาเบิกความตอบโจทก์แต่ไม่ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยก็ไม่มีกฎหมาบบัญญัติห้ามไม่ให้ศาลรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ว่า จำเลยขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานโจทก์ปากอื่น ขอถามค้านไปพร้อมกัน เมื่อถึงวันนับสืบพยานโจทก์วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ พยานโจทก์ทั้งสองมาศาลพร้อมกับผู้เสียหายที่ ๑ แต่ทนายจำเลยขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายกฎหมายให้สภาตำบล ศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า คดีนี้ทนายจำเลยได้มีการขอเลื่อนคดีหลายครั้งแล้ว แต่เพื่อให้โอกาสจำเลยในการถามค้านพยานโจทก์อีกสักครั้ง จึงอนุญาตให้เลื่อนคดี และกำชับจำเลยและทนายจำเลยว่า ศาลจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก หากทนายจำเลยไม่มาศาลถือว่าไม่ติดใจถามค้นพยานโจทก์ที่มาศาล และจะพิจารณาถอนประกันจำเลยโดยถือว่าจำเลยประวิงคดี ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ และตามบันทึกเจ้าหน้าที่เรื่องให้พยานทราบกำหนดนัด ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ และในที่สุดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ และวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ ว่า จำเลยเป็นฝ่ายขอให้ศาลงดสีบพยานดังกล่าวและพยานโจทก์ปากอื่นเอง โดยโจทก์ยังติดใดและได้พยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ตัวพยานเหล่านั้นมาเบิกความต่อศาลแล้ว คำเบิกความตอบโจทก์ของผู้เสียหายที่ ๓ และนายทวีศักดิ์จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ได้ หาใช่เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ประกอบกับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพโดยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสาม ที่จำเลยอ้างว่ากลุ่มวัยรุ่นบ้านธาตุเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสามกับพวก จำเลยเพียงแต่ถือไม้เดินตามสิบตรีสุวันชัยเข้าไปที่รถที่ผู้เสียหายทั้งสามกับพวกโดยสารมาเพราะเห็นว่านายชูชาติหรืออุ๋น บุญหนัก ซึ่งมากับจำเลยถูกผู้เสียหายที่ ๓ ใช้ขวดสุราตีทำร้านนั้นยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง เพราะนายชูชาติเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยแต่เพียงว่าคืนเกิดเหตุนายชูชาติขับรถจักรยานยนต์ไปดูหมอลำกับนายเรียน พิมพ์ทองและขณะเดินไปเอารถจักรยานยนต์เพื่อกลับบ้านผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งนายชูชาติมีความเกี่ยวข้องกับจำเลยหรือรู้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยเบิกความว่า จำเลยกับสิบตรีสุวันชัยเดินตามกันเข้าไปที่รถที่ผู้เสียหายทั้งสามกับพวกนั่งอยู่และสิบตรีสุวันชัยถูกแย่งไม้ไปก่อนแล้วพวกวัยรุ่นบ้านธาตุจึงได้วิ่งมาจากด้านหลังแซงจำเลยเข้าไปใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสามกับพวก แต่สิบตรีสุวันชัยพยานจำเลยกลับเบิกความว่าตนเพิ่งจะเดินเข้าไปทางที่เกิดเหตุเพราะได้นยินเสียงปืนดังขึ้นและนายดาวี ปะระมาดัง พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า กลุ่มวัยรุ่นบ้านธาตุเห็นจำเลยเดินเข้าไปที่บรเวณท้านรถที่ผู้เสียหายทั้งสามกับพวกนั่งอยู่ จึงได้วิ่งสวนออกมา และวัยรุ่นในกลุ่มดังกล่าวคนหนึ่งได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปที่ท้ายรถ คำเบิกความของสิบตรีสุวันชัยและนายคาวีจึงขัดแย้งแตกต่างกันกับคำเบิกความของจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวย่อมขาดน้ำหนัก ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและนำชั้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเพราะพนักงานสอบสวนบอกจำเลยว่าจะติดตามจับคนร้าย เมื่อได้ตัวแล้วและนำมาดำเนินคดีแทนจำเลย โดยจะกันจำเลยไว้เป็นพยานก็ปราศจากเหตุผลและรับฟังไม่ได้ เพราะพยานหลักฐานของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นมีน้ำหนักและเหตุผลมั่นคงเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิด ที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามเพราะเหตุที่จำเลยให้การรับสารภาพดังกล่าวนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสีบว่า จำเลยเป็นคนร้ายซึ่งใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นอันเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงและใช้ทำอันตรายให้ถึงแก่ความตายได้ยิงผู้เสียหายทั้งสามกับพวกในระยะใกล้ และกระสุนปืนถูกผู้เสียหายทั้งสามบริเวณลำคอ อก คาง ใบหน้า และต้นแขน ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าหาใช่จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสามดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมือผู้เสียหายทั้งสามไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเพียงแต่ถือไม้เดินตามสิบตรีสุวันชัยเข้าไปที่รถที่ผู้เสียหายทั้งสามกับพวกโดยสารมาเพราะว่านายชูชาตืซึ่งมากับจำเลยถูกผู้เสียหายที่ ๓ ใช้ขวดสุราตีทำร้ายดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของจำเลยว่าฝ่ายผู้เสียหายทั้งสามได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมก่อน แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสามในขณะนั้น การใช้อาวุธปืนยิงของจำเลยดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ดังที่จำเลยฎีกาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

นายรังสรรค์ ขวัญสกุลวัฒน์ ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share