คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 93 คดีถึงที่สุด ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลชั้นต้นงดเพิ่มโทษ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และกฎหมายไม่มีข้อยกเว้นไว้ว่าหากคดีถึงที่สุดแล้วจะไม่ได้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 และในกรณีนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี เพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2546 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, วรรคสี่, 83, 80, 371 ฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้อาวุธมีดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 90 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 18 ปี และปรับ 90 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 12 ปี และปรับ 60 บาท
วันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้งดเพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา พ.ศ.2550 ประกาศใช้บังคับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 คดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดไปตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 ปี 9 เดือน ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2624/2539 ของศาลจังหวัดนครปฐม และภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ 1 ได้มากระทำความผิดในคดีนี้อีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุที่จะงดเพิ่มโทษให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายไม่มีข้อยกเว้นไว้ว่าหากคดีถึงที่สุดแล้วจะไม่ได้รับประโยชน์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 หรือไม่ และแม้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จะมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคดีจำเลยที่ 1 จะถึงที่สุดไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับก็ตาม แต่ปัญหาว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี เพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี

Share