แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยตามสมควรแก่ความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง และโทษกักขังก็เป็นโทษในสถานเบากว่าโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งที่โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หาได้ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 ประกอบด้วยมาตรา 215 หรือมาตรา 212 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 6, 8, 15, 61, 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 (ที่ถูก 61 วรรคหนึ่ง), 73 จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ลดโทษและรอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจพิพากษาลดโทษ รอการลงโทษจำคุกหรือไม่รอการลงโทษจำคุกเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยเป็นอย่างอื่น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษกักขังจำเลยจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยตามความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง และโทษกักขังก็เป็นโทษในสถานเบากว่าโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งที่โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หาได้ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ประกอบด้วย มาตรา 215 หรือมาตรา 212 ไม่ ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวนไม่มากนัก และหลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยยังรู้สำนึกในความผิดแห่งตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแล ซึ่งจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า แม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยให้เหมาะแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน แต่ให้วางโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 3,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และคุมประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจไปสู่การกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.