คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เงิน 100 บาท ของกลางที่ใช้ในการล่อซื้อมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใดซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงไม่อาจริบได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบ จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเฮโรอีน ปรากฏว่าเฮโรอีนจำนวนเดียวกัน การกระทำจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่เนื่องจากความผิดทั้งสองบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืน จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 7 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเดือนละครั้งเป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกฟ้องข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจไพฑูรย์ แก้วนอก เป็นพยานเบิกความว่า พยานไปซุ่มดูอยู่ห่างจุดที่เกิดเหตุล่อซื้อเฮโรอีนประมาณ 30 เมตร เห็นสายลับพูดคุยและส่งธนบัตรให้จำเลย จำเลยเดินเข้าบ้านแล้วกลับออกมานำสิ่งของมองให้ลายลับ สายลับให้สัญญาณตามที่ตกลงกันไว้แล้วขับรถจักรยานยนต์ออกไป พยานกับพวกเข้าควบคุมจำเลย สักครู่ร้อยตำรวจเอกชำนิ เมฆประสิทธิ์ กับพวกมาสบทบ ร้อยตำรวจเอกชำนิแสดงหมายค้นและตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อในกระเป๋าเสื้อของจำเลย แต่การตรวจค้นบ้านของจำเลยกลับไม่พบเฮโรอีนหรือยาเสพติดให้โทษใด คงพบแต่กระสุนปืน และขณะเข้าตรวจค้นพบญาติของจำเลยอยู่ในบ้าน 3 คน เมื่อร้อยตำรวจเอกชำนิสอบถามถึงธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ จำเลยบอกว่าไม่ทราบว่าได้มาอย่างไร ร้อยตำรวจเอกชำนินำเฮโรอีนที่ได้รับจากสายลับให้ดู จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจำเลย แต่รับว่ากระสุนปืนเป็นของจำเลย ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การปฏิเสธ เห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันเพียงว่า เห็นสายลับส่งธนบัตรให้แก่จำเลย จำเลยส่งสิ่งของบางอย่างแก่สายลับ ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยส่งเฮโรอีนให้แก่สายลับ ทั้งร้อยตำรวจเอกชำนิเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าไม่ได้ตรวจค้นสายลับก่อนที่จะไปล่อซื้อเฮโรอีน สายลับจะเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ไม่ทราบ ร้อยตำรวจเอกชำนิเป็นผู้รับแจ้งจากสายลับเวลา 9 นาฬิกา ว่ามีบ้านของนางจำเนียรหรือเอียดรัศมี หมู่ที่ 4 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง มีการลักลอบจำหน่ายเฮโรอีน จึงร่วมกันวางแผนล่อซื้อเพื่อจับกุมแล้วไปขอออกหมายค้นจากศาลชั้นต้น จากนั้นจึงให้เข้าล่อซื้อและจับกุมจำเลยได้ตามบันทึกการจับกุมเมื่อเวลา 18 นาฬิกา ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับแจ้งจากสายลับจนกระทั่งวางแผนขอออกหมายค้นและเข้าจับกุมเป็นเวลาถึง 9 ชั่วโมง น่าจะต้องตระเตรียมการให้ดี แต่กลับปรากฏว่าหมายค้นกลับระบุว่าบ้านที่ขอตรวจค้นตามหมายไม่มีเลขที่ ทั้งที่ร้อยตำรวจเอกชำนิได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 ปี พยานเคยไปจับกุมบุตรของนางจำเนียรที่บ้านเกิดเหตุมาแล้วครั้งหนึ่ง จึงน่าจะทราบดีว่าบ้านดังกล่าวมีเลขที่หรือไม่ ตามบันทึกการจับกุมที่บันทึกว่าเขียนที่ 17 หมู่ที่ 4 ตำบลนาโยงใต้ และบันทึกว่าจับกุมจำเลยอายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 4 ตำบลนาโยงใต้ แสดงว่าหมายค้นที่ระบุว่าเป็นบ้านไม่มีเลขที่นั้นถูกต้อง หรือที่ถูกต้องเป็นบ้านเลขที่ 17 ตามบันทึกการจับกุมจึงเป็นข้อพิรุธว่าร้อยตำรวจเอกชำนิได้รับแจ้งจากสายลับหรือไม่ และสายลับมีตัวตนจริงหรือไม่ นอกจากนี้รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่บันทึกไว้ว่าร้อยตำรวจเอกชำนิ หน. ป.ป.ส. แจ้งว่าได้มอบธนบัตรฉบับละ 100 บาท หมายเลข 0 ค 7359849 ให้สายลับเพื่อล่อซื้อยาเสพติดในเขตอำเภอเมืองตรังจึงแจ้งไว้เป็นหลักฐานก็เป็นการลงบันทึกไว้อย่างเลื่อนลอย เพราะหากมีการสืบทราบถึงสถานที่จำหน่ายเฮโรอีนและตัวบุคคลผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจนจนสามารถวางแผนจับกุมโดยส่งสายลับไปล่อซื้อและขอหมายค้นเช่นนี้น่าจะลงบันทึกประจำวันไว้ชัดเจนกว่านี้ถึงสถานที่ที่จะล่อซื้อเฮโรอีน แต่ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวกลับระบุเพียงว่าให้สายลับล่อซื้อยาเสพติดในเขตอำเภอเมืองตรังเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเข้าตรวจค้นบ้านเกิดเหตุยังมีบุคคลอื่นอยู่ในบ้านอีก 3 คน และก่อนจับกุมจำเลยยังได้มีการจับกุมผู้เสพยาเสพติดอีกประมาณ 20 คน จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจะมีการล่อซื้อเฮโรอีนจากจำเลยจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เงิน 100 บาท ของกลางที่ใช้ในการล่อซื้อมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใดซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงไม่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบเงิน 100 บาท ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share