คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2008/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 110 คน ซึ่งตามกฎหมายจะมีคณะกรรมการลูกจ้างได้ 7 คน การที่คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างมีมติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีจำนวนเพียง 7 คน และมีโจทก์รวมอยู่ด้วย เป็นคณะกรรมการลูกจ้างโดยมิต้องมีการลงคะแนนเสียง เพราะหากจัดให้มีการลงคะแนนเสียง ผลที่ได้รับก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามประกาศกรมแรงงาน ฯ แล้ว โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง และเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างเดิม กับร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจริง เพราะโจทก์มิใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการลงบัตรคะแนนเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการในประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีที่ไม่มีการลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการในประกาศกรมแรงงาน ฯ ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งมิได้จัดให้มีการลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งตามที่อธิบดีกรมแรงงานกำหนดไว้ในประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างแต่กรณีนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างเจ็ดคนครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดในสถานประกอบกิจการแห่งนี้ หากจัดให้มีการลงคะแนนเสียง ผลที่ได้รับก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้ การที่คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งมีมติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างไปทีเดียว จึงเป็นการดำเนินการไปประกาศกรมแรงงาน ฯ ให้มีผลใช้ได้อย่างจริงจังในทางปฏิบัติ ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช่ว่าจะเป็นได้โดยต้องมีการลงคะแนนเสียงทุกกรณีไปก็หาไม่ ดังจะเห็นได้จากกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่ว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างให้เข้าร่วมเจรจากับนายจ้างในกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งบัญญัติใจความว่า หากมีผู้ประสงค์จะเป็นผู้แทนลูกจ้างเจ็ดคนพอดีก็ไม่ต้องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือเทียบเคียงได้ด้วยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ ซึ่งบัญญัติว่า ในเขตเลือกตั้งใด ถ้ามีผู้สมัครไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการเลือกตั้งได้ในเขตเลือกตั้งนั้น ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำการลงคะแนนเลือกตั้ง ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นต่อไปที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเป็นการชอบหรือไม่ โจทก์มีสิทธิขอกลับเข้าทำงานใหม่ และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยหรือไม่แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share