คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุเวลากระทำผิด แต่จำเลยเป็นพนักงานอัยการก็เห็นได้ว่าหมายถึงระหว่างเวลาปฏิบัติราชการตามปกตินั่นเอง ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีของโจทก์ข้างต้นในวันเวลาใด เพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับคดีของโจทก์ดังกล่าวด้วยตนเอง คำฟ้องของโจทก์มีรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157 และ 200
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ประกอบมาตรา 83 เฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 โจทก์ได้ปฏิบัติตามหน้าที่เข้าจับกุมบุคคลผู้มีชื่อซึ่งเปิดกิจการร้านอาหารครัวเทคที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตและเปิดเกินเวลาได้ถูกจ่าสิบตำรวจปรีชาขัดขวางและใช้อาวุธปืนจะยิงโจทก์ โจทก์และสิบตำรวจตรีโกวิทย์ได้ใช้อาวุธปืนยิงจ่าสิบตำรวจปรีชาเป็นการป้องกัน จ่าสิบตำรวจปรีชาถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพที่ ช. 1/2542 ส่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับแล้วมีหน้าที่ต้องร้องต่อศาลเพื่อทำการไต่สวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนในคดี ช. 1/2542 ทำสำนวนคดีอาญาสามัญให้โจทก์เป็นผู้ต้องหาส่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 พิจารณาและพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนคดีอาญาสามัญส่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2542 เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับสำนวนแล้วได้สมคบกันกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา โดยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 342/2542 ต่อศาลจังหวัดพังงาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2542 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องถูกควบคุมตัวและถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำผิดซึ่งได้แก่วันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพที่ ช. 1/2542 จากพนักงานสอบสวนแล้วไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม สืบเนื่องไปถึงวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนในคดีชันสูตรพลิกศพที่ ช. 1/2542 ทำสำนวนคดีอาญาสามัญให้โจทก์เป็นผู้ต้องหา และวันที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีอาญาให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้สมคบกันกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบกลั่นแกล้งฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาสามัญเพื่อให้โจทก์รับโทษทางอาญา โดยคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นฟ้องโจทก์ไว้ในคำฟ้องของโจทก์ด้วย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าใจได้ว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำผิดตามวันดังกล่าวสืบเนื่องกันมาตามที่โจทก์ได้ระบุในคำฟ้องแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุเวลากระทำผิด ก็เห็นได้ว่าหมายถึงระหว่างเวลาปฏิบัติราชการตามปกตินั่นเอง ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีของโจทก์ข้างต้นในวันเวลาใด เพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับคดีของโจทก์ดังกล่าวด้วยตนเอง คำฟ้องของโจทก์มีรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ประกอบมาตรา 83 ให้คงประทับฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share