คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 40 และ 112 ต่างมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางเงินประกันค่าอากร แต่มาตรา 112 เป็นการวางเงินประกันกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร แตกต่างจากมาตรา 40 ที่เป็นการวางประกันกรณีที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าโจทก์สำแดงเท็จและโจทก์ได้วางเงินประกันตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีจึงเป็นการวางเงินประกันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 เมื่อมีการคืนเงินประกัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่
โจทก์ได้ชำระค่าอากรเฉพาะตามจำนวนที่สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกให้โจทก์ชำระเพิ่มโจทก์ได้วางเงินประกันไว้ เงินประกันดังกล่าวมิใช่เงินอากรที่โจทก์ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 10 วรรคท้าย เมื่อไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ประกอบมาตรา 193/12

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 43,645.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินประกันจำนวน 46,733 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2541 จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2545 และให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 4,414 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อย 0.625 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนเงินประกันดังกล่าวให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของเงินประกันจำนวน 46,733 บาท สำหรับการนำเข้าครั้งที่หนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 40 และมาตรา 112 ต่างมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางเงินประกันค่าอากร แต่มาตรา 112 เป็นการวางเงินประกันกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร แตกต่างจากมาตรา 40 ที่เป็นการวางประกันกรณีที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการนำเข้าสินค้าชุดเครื่องใช้จับยึดประตูทำด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (แม่เหล็กชั่วคราว) ครั้งนี้โจทก์สำแดงพิกัด 8505.90 อากรขาเข้าร้อยละ 5 เป็นเงิน 4,214 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 8,851 บาท รวมเป็นเงิน 13,065 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์สำแดงเท็จ เพราะพิกัดที่ถูกต้องต้องเป็น 8301.60 อากรขาเข้าร้อยละ 20 ให้โจทก์วางเงินประกัน 48,466 บาท กรณีจึงเป็นการวางเงินประกันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 เมื่อมีการคืนเงินประกันจำนวน 46,733 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนเงินดังกล่าวโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้วางเงินประกันจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืนตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยมีว่า การฟ้องขอคืนเงินประกันจำนวน 4,414 บาท พร้อมดอกเบี้ยสำหรับการนำเข้าครั้งที่สามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าครั้งที่สาม อยู่ในพิกัด 8505.90 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 3 ตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และโจทก์ได้ชำระค่าอากรเฉพาะตามจำนวนที่สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่ม โจทก์ได้วางเงินประกันไว้ เงินประกันดังกล่าวมิใช่เงินอากรที่โจทก์ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 เมื่อกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ประกอบมาตรา 193/12 โจทก์วางเงินประกันดังกล่าววันที่ 16 มิถุนายน 2543 และยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 11 สิงหาคม 2547 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระค่าเก็บรักษาสินค้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานสำแดงเท็จในการนำเข้าครั้งแรก เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียค่าเก็บรักษาสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 990 บาท นั้น แม้ความจริงโจทก์จะมิได้สำแดงเท็จ แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังไม่ได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าเก็บรักษาสินค้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของโจทก์มีว่า การฟ้องขอคืนเงินอากรจำนวน 12,403 บาท พร้อมดอกเบี้ยสำหรับการนำเข้าครั้งที่สอง ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคท้าย สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนพึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งออกแล้วแต่กรณี การที่โจทก์นำเข้าครั้งที่สองโดยสำแดงพิกัด 8301.40 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 20 ชำระอากรขาเข้าเป็นเงิน 14,592 บาท แต่ความจริงสินค้าที่โจทก์นำเข้าอยู่ในพิกัด 8505.90 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 3 จึงเป็นกรณีที่โจทก์เสียอากรเกินกว่าที่พึงต้องเสียจริง 12,403 บาท โจทก์จึงต้องฟ้องขอคืนเงินอากรจำนวนนี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันนำของเข้า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์นำเข้าครั้งที่สองเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 แต่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2547 เกินกำหนดเวลา 2 ปี คดีจึงขาดอายุความ แม้โจทก์จะชำระเงินอากรดังกล่าวโดยโต้แย้งพิกัดและฝ่ายกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดของจำเลยแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ก็เริ่มนับอายุความ 2 ปีจากวันดังกล่าวไม่ได้ เพราะมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ได้มีบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าอายุความ 2 ปี ให้เริ่มนับจากวันที่นำของเข้า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทั้งของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share