แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยจ้างโจทก์ซึ่งเป็นครูชาวต่างประเทศเป็นลูกจ้างทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียนของจำเลยตั้งแต่ปี 2540 และต่อสัญญาจ้างรายปีเรื่อยมาจนถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายสำหรับปีการศึกษา 2547 ถึง 2548 โดยในขณะนั้นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิในการได้รับค่าชดเชยของครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง แต่ในระหว่างสัญญาฉบับสุดท้ายยังมีผลได้มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ประกาศใช้บังคับแล้ว โดยระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 บัญญัติให้ยกเลิกความในข้อ 35 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 35 ครูไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เพราะเหตุดังต่อไปนี้…(2) ครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง…” ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาจ้างตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ได้ครบกำหนดตามสัญญาจ้างในเดือนพฤษภาคม 2548 และจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานต่อไปจึงเป็นกรณีที่โจทก์ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 (2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 3 ซึ่งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเป็นสิทธิทางแพ่งที่เกิดขึ้นเมื่อถูกเลิกสัญญาการเป็นครู เมื่อโจทก์ถูกเลิกสัญญาการเป็นครูเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างภายหลังระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวใช้บังคับโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 1,261,408 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากการที่ออกจากงานเพราะครบกำหนดตามสัญญาจ้างหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ขณะที่ทำสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายนั้นยังคงใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ซึ่งไม่ได้มีข้อกำหนดว่าครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ดังนั้นจะใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ และเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยจ้างโจทก์ซึ่งเป็นครูชาวต่างประเทศเป็นลูกจ้างทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียนของจำเลยตั้งแต่ปี 2540 และต่อสัญญาจ้างรายปีเรื่อยมาจนถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายสำหรับปีการศึกษา 2547 ถึง 2548 โดยขณะนั้นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิในการได้รับค่าชดเชยของครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้าง แต่ในระหว่างสัญญาฉบับสุดท้ายยังมีผลได้มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ประกาศใชบังคับแล้ว โดยระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 บัญญัติให้ยกเลิกความในข้อ 35 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 35 ครูไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เพราะเหตุดังต่อไปนี้…(2) ครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง…” ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาจ้างตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ได้ครบกำหนดตามสัญญาจ้างในเดือนพฤษภาคม 2548 และจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานต่อไปจึงเป็นกรณีที่โจทก์ออกเพราะเหคุครบกำหนดตามสัญญาจ้างตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 (2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 3 ซึ่งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเป็นสิทธิทางแพ่งที่เกิดขึ้นเมื่อถูกเลิกสัญญาการเป็นครู เมื่อโจทก์ถูกเลิกสัญญาการเป็นครูเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างภายหลังระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวใช้บังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจกท์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน