แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นหญิงสมัครใจเข้าวิวาทกับ ภ. ต่างคนต่างทำร้ายซึ่งกันและกันแต่พละกำลังโจทก์สู้ ภ. ไม่ได้ จึงล้มลงกับพื้นในลักษณะนอนหงาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ ภ. ตรงเข้าทำร้ายโจทก์โดยไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกับโจทก์มาก่อน แม้ว่าโจทก์และ ภ. จะถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสองคนและคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย โดยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับ ภ. แม้จะเป็นเวลาใกล้เคียงต่อเนื่องกันก็ตาม พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฉวยโอกาสทำร้ายโจทก์ทั้งที่โจทก์ไม่มีทางสู้ โจทก์ไม่ได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทและกระทำผิดต่อจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ฝ่ายเดียว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายทั้งตามความเป็นจริงและตามกฎหมายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(4) , 28 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 33, 83, 91, 295, 371, 372 ริบร่มของกลาง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 16 ปีเศษ คดีอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา จึงให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 จำคุก 4 เดือนและปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง และผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์และนายภูษิต บิดาจำเลยที่ 1 ทะเลาะวิวาทกันแล้วต่างคนต่างทำร้ายร่างกายกันและถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสองคน คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยก่อน โจทก์เบิกความว่า เมื่อโจทก์ถูกนายภูษิตต่อยจนล้มลง เห็นมีหญิงคนหนึ่งใช้วัตถุแข็งตีระหว่างดั้งจมูกและหน้าผากและรู้สึกว่ามีคนกระทืบหน้าอกข้างซ้ายหลายครั้ง และมีนายอาทร และนางสาวนุบาล มาเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า เห็นจำเลยที่ 2 ใช้ร่มตีหน้าโจทก์ และจำเลยที่ 1 ใช้เท้ากระทืบหน้าอกโจทก์หลายครั้ง และพยานทั้งสองอยู่ห่างจากจุดที่โจทก์ถูกทำร้ายประมาณ 4 ถึง 5 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในคดีความผิดฐานทำร้ายร่างกายและไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ประกอบด้วยมาตรา 28 (2) นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 1 มาก่อนเกิดเหตุแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์แห่งคดีแยกจากกันได้จากการกระทำของนายภูษิต ทั้งนี้เพราะโจทก์เป็นหญิงพละกำลังสู้นายภูษิตไม่ได้และล้มลงนอนหงายอยู่ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรนายภูษิต ตรงเข้าทำร้ายโจทก์โดยใช้เท้ากระทืบบริเวณหน้าอกและหน้าท้องโจทก์หลายครั้งนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อโจทก์ย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับนายภูษิต แม้จะเป็นเวลาใกล้เคียงต่อเนื่องกันก็ตาม พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฉวยโอกาสทำร้ายโจทก์ทั้งที่โจทก์ไม่มีทางสู้ โจทก์ไม่ได้สมัครใจทะเลาะวิวาทและกระทำความผิดต่อจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ดังกล่าวฝ่ายเดียว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายทั้งตามความเป็นจริงและตามกฎหมายเพราะเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ห้รับโทษฐานกระทำความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.