คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5805/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 21 บัญญัติว่า ผู้ใดจะก่อสร้างอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ การที่จำเลยให้ นายช่างเทศบาลเขียนแบบแปลนให้ไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ จำเลยมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ย่อมต้องรู้ว่าการก่อสร้างอาคารต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากทางราชการหรือดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ก่อน แต่จำเลยกลับทำการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อสร้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด
จำเลยได้รับหนังสือจากนายกเทศมนตรีให้ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 โดย ลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้รับแทน และเมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุในวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ก็พบคนงานกำลังก่อสร้างอาคารพิพาทอยู่ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 รวมเป็นเวลา 121 วัน แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง 120 วัน นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานท้องถิ่นเพียง 120 วัน ทั้งฟ้องว่าระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 (รวมเวลา 129 วัน) จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยรายวันตลอดมาจนถึงวันฟ้องและหลังจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ เพราะเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าวเพียงถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 แสดงว่าหลังจากวันนั้นจำเลยอาจมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การลงโทษปรับจำเลยหลังจากวันนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาแก้โทษจำเลยให้ถูกต้องตรงกับคำฟ้อง
การที่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 อันเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และมาตรา 40 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจ สั่งให้ระงับการก่อสร้างและพิจารณาสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณี การสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 หมายถึงการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนจึงไม่ต้องพิจารณาว่ากรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยทราบคำสั่งแล้วจำเลยยังคงก่อสร้างต่อไปจำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 40 (1) และกรณีนี้มิใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นความผิด จึง ไม่มีอาจนำบทบัญญัติมาตรา 2 วรรคสอง แห่ง ป.อ. มาบังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒, ๓, ๔, ๒๑, ๔๐, ๖๕, ๖๗, ๗๐, ๗๙, ๘๐ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๑๐๙/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยและบริวารออกจากทาง สาธารณประโยชน์ และปรับจำเลยตามกฎหมายจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๑, ๔๐ (๑) , ๖๕ วรรคหนึ่ง , วรรคสอง , ๖๗ วรรคหนึ่ง , วรรคสอง , ๗๐ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙ (๑) , ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง , วรรคสี่ เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานก่อสร้างอาคารโครงหลังคาเหล็กและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ๑ คูหา เพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดกรรมเดียวกัน จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท และปรับรายวันวันละ ๑๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ถึงวันพิพากษา เป็นเงิน ๑๐๗,๕๐๐ บาท กับให้ปรับรายวันอีกวันละ ๑๐๐ บาท นับแต่วันพิพากษาตลอดเวลาที่จำเลยฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท และปรับรายวันวันละ ๑๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ ถึงวันพิพากษา เป็นเงิน ๑๐๖,๗๐๐ บาท กับให้ปรับต่อไปอีกวันละ ๑๐๐ บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังคงฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง …
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่า จำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิดที่มิได้ยื่นแบบแปลนขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยให้นายช่างเทศบาลจังหวัดยโสธรเป็นผู้เขียนแบบแปลนการก่อสร้างโดยได้รับคำแนะนำจากนายช่างดังกล่าวว่าให้ก่อสร้างไปก่อน แล้วจึงไปยื่นแบบแปลนได้ในภายหลัง จำเลยจึงก่อสร้างไปก่อนโดยเข้าใจว่าสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายและเมื่อนายวิจัย โสธรวงษ์ พนักงานเทศบาลเมืองยโสธร ตำแหน่งช่างโยธา ๓ แนะนำให้จำเลยไปขออนุญาตจำเลยก็ได้นำแบบแปลนตามเอกสารหมาย ล.๒ ไปยื่นขออนุญาตต่อเทศบาลเมืองยโสธร จึงเป็นการขาดเจตนาในการกระทำผิด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๑ บัญญัติว่า ผู้ใดจะก่อสร้างอาคารต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ ดังนั้น ในกรณีที่จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๒๑ ดังกล่าว จำเลย ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ คือต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นพร้อมทั้งแจ้งข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบและแผนผังบริเวณ แบบแปลน เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งให้ การที่จำเลยให้นายช่างเทศบาล เขียนแบบแปลนให้จึงไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ ซึ่งจำเลยมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ย่อมต้องรู้ว่าการ ก่อสร้างอาคารต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากทางราชการหรือดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ ก่อน แต่จำเลยกลับทำการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อสร้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด
จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำนวน ๑๒๐ วันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะขัดกับคำให้การของนายวิจัย โสธรวงษ์ ตามเอกสารหมาย จ.๓ ซึ่งให้การว่า จำเลยทำการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพียง ๑๑ วันและไม่รื้อถอนตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพียง ๑๑ วัน นั้น เห็นว่า การรับฟัง ข้อเท็จจริงนั้น ศาลต้องพิเคราะห์จากพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหมดในสำนวนมิใช่พิจารณาเฉพาะข้อความเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกสาร คดีนี้โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือจากนายกเทศมนตรีเมืองยโสธรให้ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๕ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ โดยลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้รับแทน ต่อมานายวิจัยตรวจสอบอาคารของจำเลยอีกครั้งพบว่าจำเลยยังฝ่าฝืนทำการก่อสร้างต่อไป จึงทำรายงานผู้บังคับบัญชาตามเอกสารหมาย จ.๒ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๙ และเมื่อร้อยตำรวจเอกมานิต สิทธิไพร พนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ ก็พบคนงานกำลังก่อสร้างอาคารพิพาทอยู่ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ รวมเป็นเวลา ๑๒๑ วัน แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง ๑๒๐ วัน นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพียง ๑๒๐ วัน ทั้งฟ้องว่าระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ (รวมเวลา ๑๒๙ วัน) จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับ ใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยรายวันตลอดมาจนถึงวันฟ้องและหลังจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น คำพิพากษาส่วนนี้จึงไม่ชอบ เพราะเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าวเพียงถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ แสดงว่าหลังจากวันนั้นจำเลยอาจมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การ ลงโทษปรับจำเลยหลังจากนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกาโดยตรง แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เห็นควรพิพากษาแก้โทษจำเลยให้ถูกต้องตรงกับคำฟ้อง
จำเลยฎีกาต่อไปว่า กรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑ โดยสั่งให้จำเลยยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการ แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย ต้องนำเอากฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ อันจะทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๑ อันเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และมาตรา ๔๐ บัญญัติว่าในกรณีที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจ มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและพิจารณาสั่งตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ แล้วแต่กรณี การสั่งตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ หมายถึงการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ แต่คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอน จึงไม่ต้องพิจารณาว่ากรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยทราบคำสั่งแล้วจำเลยยังคงก่อสร้างต่อไป จำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา ๔๐ (๑) และกรณีนี้มิใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นความผิด จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา ๒ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญามาบังคับได้ …
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับรายวันวันละ ๑๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ รวมเป็นเวลา ๑๒๙ วัน คิดเป็นค่าปรับ ๑๒,๙๐๐ บาท ความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ปรับรายวันวันละ ๑๐๐ บาท รวม ๑๒๐ วัน คิดเป็นค่าปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓

Share