แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายตำรวจกลับจากงานแต่งงานเกิดโต้เถียงกับจำเลย ไม่ได้ทำการตามหน้าที่ และไม่แสดงบัตรให้จำเลยดู จำเลยไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานกล่าวคำไม่สุภาพ ขณะโต้เถียงกันไม่เป็นดูหมิ่นซึ่งหน้า
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136, 138, 336 จำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาท ตามมาตรา 138 บทหนักรอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ยกฟ้องฐานพยายามฆ่าคน ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องทั้งหมด โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ พลตำรวจตรีวิเชียร แสงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลผู้เสียหายกลับจากงานแต่งงาน ขับรถยนต์มาจอดที่สถานีจำหน่ายน้ำมันซึ่งนางรัมภา แสงแก้ว ภริยาผู้เสียหายเป็นผู้จัดการ ผู้เสียหายได้จอดรถยนต์ขวางหน้ารถยนต์ของจำเลยซึ่งมาจอดเติมน้ำมัน จำเลยขับรถยนต์ออกไม่ได้จึงเข้าไปบอกผู้เสียหายซึ่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ในห้องของสถานีจำหน่ายน้ำมันให้ถอยรถยนต์ของผู้เสียหาย เพื่อให้รถยนต์ของจำเลยแล่นออกได้แล้วเกิดโต้เถียงกันขึ้น ปัญหาชั้นฎีกาที่จะวินิจฉัยมีว่า จำเลยกล่าววาจาดูหมิ่นผู้เสียหายขณะกระทำการตามหน้าที่ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะเป็นความผิดฐานนี้ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานทำการตามหน้าที่หรือในการปฏิบัติการตามหน้าที่แต่คดีนี้ได้ความว่าผู้เสียหายกลับจากงานแต่งงาน ได้แวะเข้าไปนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ในห้องของสถานีจำหน่ายน้ำมันของภริยาผู้เสียหายแล้วจึงเกิดโต้เถียงกับจำเลย กรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายทำการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เป็นเรื่องการโต้เถียงกันเป็นส่วนตัว แม้จำเลยจะกล่าววาจาต่อหน้าผู้เสียหายดังฟ้องโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และที่จำเลยไม่ยอมให้จับกุมนั้น เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยกำลังโต้เถียงกันในเรื่องส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายจะจับกุมจำเลย จำเลยขอให้ผู้เสียหายแสดงบัตรประจำตัว ผู้เสียหายก็ไม่ยอมแสดงให้ดูเพื่อให้จำเลยรู้แน่ชัดว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานที่จะกระทำการตามหน้าที่ จึงไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และถ้อยคำที่จำเลยกล่าวแก่ผู้เสียหายเป็นแต่เพียงถ้อยคำที่ไม่สุภาพ และกล่าวในขณะโต้เถียงกันจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ด้วย”
พิพากษายืน