คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีใจความว่า ขอมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจทั้งปวงจัดการเกี่ยวกับการขอรับมรดก และมีอำนาจเต็มที่ในการรับและจัดการมรดกดังกล่าวดังนี้ เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการขอรับมรดกและมีลักษณะเป็นการตั้งให้เป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปที่จะจัดการเกี่ยวกับมรดกที่ได้รับมาได้ตามสมควรผู้รับมอบอำนาจย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีขอให้ศาลถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกแทนหรือร่วมกับจำเลยเพราะเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นคนจีนอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภริยาและบุตรของนายน้ำซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศไทยจนถึงแก่กรรมจำเลยเป็นบุตรของพี่ชายนายน้ำ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกนายน้ำโดยอ้างว่าเป็นทายาทเพียงคนเดียว ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแต่ จำเลยมิได้จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีนี้แทน ขอให้ศาลถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก และแต่งตั้งให้ผู้รับมอบอำนาจทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทนหรือร่วมกับจำเลย

จำเลยให้การว่า ไม่ปรากฏข้อความตอนใดในหนังสือมอบอำนาจว่าให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีในศาลได้ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจสมบูรณ์ตามกฎหมาย พิพากษาให้ผู้รับมอบอำนาจทั้งสองและจำเลยร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายน้ำ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายน้ำ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจนี้ทำในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโจทก์ส่งคำแปลต่อศาล มีใจความที่สำคัญว่า ผู้มอบอำนาจทั้งสอง “ขอมอบอำนาจให้นายเต็กพ้ง แซ่เล้า (นายพงษ์ เหล่าวรวิทย์) กับนายซุยเตี่ยง แซ่เล้า (นายจงติ้ง แซ่เล้า) เป็นผู้รับมอบอำนาจตามกฎหมาย มีอำนาจทั้งปวงจัดการเกี่ยวกับการขอรับมรดกกับบุคคลหรือหน่วยราชการไทยใด ๆ และมีอำนาจเต็มที่ในการรับและจัดการมรดกดังกล่าว การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไป ให้ถือเสมือนเป็นการกระทำของข้าพเจ้า ผู้รับมอบอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้” เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือมอบอำนาจนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าผู้มอบอำนาจมอบอำนาจเฉพาะการให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการรับมรดกจากบุคคลหรือจากหน่วยราชการไทยใด ๆ เช่นขอรับมรดกที่ดิน หรือขอรับเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารเป็นต้น การที่โจทก์มายื่นฟ้องขอถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่เกี่ยวกับการขอรับมรดกจากบุคคลหรือจากหน่วยราชการไทยใด ๆ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ ส่วนคำว่าให้มีอำนาจเต็มที่ในการรับและจัดการมรดกดังกล่าว ก็มีลักษณะเป็นการตั้งโจทก์ทั้งสองให้เป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปที่จะจัดการเกี่ยวกับมรดกที่ได้รับมาได้ตามที่เห็นสมควรเมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีอำนาจที่จะยื่นฟ้องต่อศาลได้ เพราะเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801(5) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การจัดการมรดกย่อมรวมถึงการฟ้องคดีด้วยนั้น เห็นว่าเป็นการแปลความอย่างขยายความเกินไปอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวการได้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share