คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปีปัจจุบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 นั้น คำว่า’ปีปัจจุบัน’ หมายถึงปีที่ผู้มีบุริมสิทธิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เอาเงินของลูกหนี้มาชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่ผู้มีบุริมสิทธิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้กู้ ผู้จำนอง และผู้ค้ำประกัน ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสามยอมชำระเงินให้โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ศาลบังคับคดียึดทรัพย์จำนองรวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลย ก่อนขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปี พ.ศ. 2517 กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 491,237 บาท 17 สตางค์ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระดังกล่าวจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยถือว่าเป็นหนี้บุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253

โจทก์แถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้สามัญไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์รวม 9 รายการขายทอดตลาดแล้วได้เงิน 450,000 บาท โจทก์ขอหักเป็นเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ซึ่งศาลอนุญาตแล้ว เงินจำนวนนี้หมดสภาพเป็นเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอเฉลี่ย

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์แถลงยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ติดค้างภาษีเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2517 รวมทั้งเงินเพิ่มอยู่จริงตามคำร้องศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดไต่สวนและรอฟังคำสั่ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1ค้างชำระ มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะในฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญ คำขอของผู้ร้องนอกจากนี้ให้ยก

ผู้ร้องทั้งสองและโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ผู้ร้องไม่มีบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มสำหรับปี พ.ศ. 2517 ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับเงิน 450,000 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดเครื่องจักร และอุปกรณ์รวม 9 รายการอันเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไปจริงหรือไม่ และศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งอนุญาตให้นำเงินจำนวนดังกล่าวชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ ไม่มีหลักฐานปรากฏในสำนวนคดีนี้ที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวแล้ว และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้นำเงินที่ขายได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวจึงหมดสภาพเป็นเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยในเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงไม่จำเป็นต้องสั่งในเรื่องนี้อีก ที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องนี้ ชอบแล้ว พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งสองและโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปีปัจจุบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 หมายถึงปีที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เอาเงินของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 11 ตุลาคม 2519 ผู้ร้องย่อมมีบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปี พ.ศ. 2519 และก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่งคือปี พ.ศ. 2518 แต่ตามคำร้องของผู้ร้องได้ยื่นขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างชำระสำหรับปี พ.ศ. 2517 หนี้ภาษีเงินได้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่พ้นกำหนดมีบุริมสิทธิแล้ว ที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517 ได้ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 68 ก็เป็นการให้เวลาจำเลยที่ 1 ยื่นรายการพร้อมชำระภาษีปี พ.ศ. 2517 ได้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2518 เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ทำให้หนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลปี พ.ศ. 2517 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ฎีกาผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้นและในวันนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทนายโจทก์แถลงยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ติดค้างภาษีเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2517 รวมทั้งเงินเพิ่มอยู่จริงตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเป็นหนี้บุริมสิทธิดังที่โจทก์ได้แถลงคัดค้านไว้แล้ว ดังนี้ ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่จะต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงประเด็นเดียวว่า จะยอมให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิหรือไม่ ส่วนที่โจทก์คัดค้านมิให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์รวม 9 รายการ จำนวนเงิน 450,000 บาทนั้น ปรากฏว่านอกจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดเครื่องจักรและอุปกรณ์รวม 9 รายการของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังได้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 อีก 2 แปลง ซึ่งยังมิได้ขายทอดตลาด ซึ่งหากโจทก์มีสิทธิจำนองเหนือที่ดินที่ยึดทั้ง 6 แปลง และมีบุริมสิทธิเหนือเครื่องจักรและอุปกรณ์รวม 9 รายการที่จำเลยที่ 1 จำนำโจทก์ไว้ และโจทก์ได้แจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองที่ดินและบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องแบ่งเฉลี่ยจำนวนเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้จำนองและเจ้าหนี้บุริมสิทธิก่อน หากมีเงินเหลือจึงแบ่งเฉลี่ยให้เจ้าหนี้สามัญอื่นต่อไปถ้าโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็คัดค้านได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319, 320 ทั้งผู้ร้องก็ยังมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับเงินขายทอดตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์รวม 9 รายการ ที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างแต่ประการใด

พิพากษายืน

Share