คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3820/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ย. ผู้เอาประกันชีวิตละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่เคยเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์และเป็นโรคตับโตตัวเหลืองเป็นไข้และท่อน้ำดีอักเสบย. ย่อมรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร การที่ ย. ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงแห่งโรคที่ตน รู้ว่าเคยเป็นและเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ย. กับจำเลยย่อมตก เป็นโมฆียะ เมื่อจำเลยได้บอกล้างแล้วสัญญาย่อมเลิกกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 107,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 100,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิต นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า ผู้เอาประกันภัยปิดบังข้อเท็จจริงว่าไม่เคยเป็นโรคตับ โรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานมาก่อน และปิดบังเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงทำให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 61,780 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยปฏิสเธความรับผิดอ้างว่านายเยื้อน แสงงาม ปิดบังความเจริงเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนเอาประกันชีวิตกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล สัญญาเป็นโมฆียะและจำเลยบอกล้างแล้ว ผู้รับประโยชน์จึงได้รับคืนเฉพาะเงินเบี้ยประกันที่ส่งไปแล้วเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ. 1 หรือหมาย ป.ล. 1 ว่า นายเยื้อน แสงงามผู้เอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งในท้อง โรคตับแข็ง และความดันโลหิตสูง ประเด็นที่จะวินิจฉัยมีว่าบริษัทจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏตามบัตรตรวจโรคของโรงพยาบาลหาดใหญ่ เอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 1 และ ที่ 2 ซึ่งระบุว่า นายเยื้อนมีอาการปวดหลัง ปัสสาวะขุ่นเหลืองเข้ม ปวดศรีษะ ตัวร้อน รับประทานอาหารไม่ได้…นายแพทย์พิสิษฐ์ วัฒนสุข แพทย์ที่ปรึกษาของบริษัทจำเลย และนายแพทย์วิวัฒน์ นิมมานรัชต์ ผู้ตรวจร่างกายของนายเยื้อนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการประกันชีวิตก็เบิกความว่า ตามบัตรตรวจโรคเอกสารหมาย ล.1 ระบุว่านายเยื้อนเป็นโรคตับโตและโรคดีซ่าน…โจทก์เองก็รับว่านายเยื้อนป่วยอยู่บ้านวันหรือ 2 วัน แล้วก็ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ นอนพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ1 สัปดาห์ โจทก์ไปนอนเฝ้าทุกคืน เห็นว่าการที่ต้องไปนอนเฝ้าเช่นนี้เชื่อได้ว่านายเยื้อนมีอาการป่วยหนักพอสมควร ตามพฤติการณ์เช่นนี้นายเยื้อนย่อมจะต้องรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคอะไรจึงต้องถึงกับเข้ารับการรักษาตัวหลายวันเช่นนั้น แต่ครั้นจะเอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลย นายเยื้อนกลับตอบข้อซักถามของนายแพทย์วิวัฒน์ตามรายงานการตรวจสุขภาพ เอกสารหมาย ล.3 ข้อ 7 ง. ว่า ไม่เคยเป็นหรือเคยถูกรักษาโรคตับ ลำไส้ ไต หรือกระเพาะปัสสาวะ และตอบคำถามในข้อ 8 ฉ. ตามเอกสารดังกล่าวว่า ไม่เคยเจ็บไข้หรือบาดเจ็บนอกเหนือจากข้อซักถามเกี่ยวกับโรคในข้ออื่น ๆ ทั้งที่ตนเคยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว และในเรื่องนี้นายแพทย์วิวัฒน์ยังเบิกความด้วยว่า หากนายเยื้อนบอกความจริงว่าเคยเป็นโรคตับ โรคดีซ่านซึ่งถ้าตรวจด้วยเครื่องมือธรรมดาไม่พบก็จะต้องตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์อันหมายความว่าจะต้องตรวจพบโรคดังกล่าวได้หากมี ดังนี้ จึงเห็นได้ว่านายเยื้อนละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงแห่งโรคที่ตนรู้ว่าเคยเป็นและเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตเอกสารหมาย ป.จ. 1 ถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการรับประกันชีวิตดังที่จำเลยต่อสู้ไว้ ดังนี้ สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายเยื้อนกับจำเลยเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรกเมื่อบริษัทจำเลยบอกล้างแล้วตามเอกสารหมาย ล.5 สัญญานี้จึงตกเป็นโมฆะ บริษัทจำเลยไม่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง”.

Share