คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4221/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ในช่องข้อหาหรือฐานความผิดระบุว่า “ละเมิดเรียกค่าเสียหาย”ฟ้องข้อ 3 บรรยายว่า “ระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางจำเลยได้ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย” แต่ฟ้องข้อ 2 ก็ได้บรรยายว่า “จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2526 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งผู้โดยสารตามสัญญาจ้างแรงงาน”เมื่ออ่านฟ้องสองข้อประกอบกันแล้วย่อมเห็นได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ บกพร่องต่อหน้าที่อันเกิดแต่สัญญาจ้างแรงงานในการขับรถเป็นฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่ฟ้องเรื่องละเมิดแม้โจทก์จะระบุข้อหาหรือฐานความผิดคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิดก็ไม่ทำให้สารัตถะในฟ้องซึ่งเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานกลายเป็นฟ้องเรื่องละเมิดไปได้จะใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 มาปรับแก่คดีหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางตามสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ๓ ครั้ง และได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อมาโจทก์ไล่จำเลยออกเพราะกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินรวม ๑,๗๐๐ บาท ที่จำเลยรับสภาพหนี้ไว้ จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์คดีขาดอายุความละเมิดแล้ว และจำเลยชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดคดีขาดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ในช่องข้อหาหรือฐานความผิดระบุว่า “ละเมิดเรียกค่าเสียหาย” ในข้อ ๓ โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ระหว่างจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทาง จำเลยได้ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวม ๓ ครั้ง กล่าวคือ”ฟ้องโจทก์เป็นดังนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ถ้อยคำในฟ้องของโจทก์ข้อ ๓ ใช้คำว่า จำเลยประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์เสียหายก็ตาม แต่ในฟ้องข้อ ๒ โจทก์บรรยายว่า “จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๖ มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งผู้โดยสารตามสัญญาจ้างแรงงาน”เมื่ออ่านฟ้องสองข้อประกอบกันแล้วย่อมเห็นได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดต่อหน้าที่ บกพร่องต่อหน้าที่อันเกิดแต่สัญญาจ้างแรงงานในการขับรถ โดยจะต้องขับมิให้เกิดความเสียหายแก่รถของโจทก์ ไม่บกพร่องในการขับ ฟ้องโจทก์ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฟ้องที่กล่าววหาว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่ฟ้องเรื่องละเมิดแม้โจทก์จะระบุข้อหาหรือฐานความผิดคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิด ก็ไม่ทำให้สารัตถะในฟ้องซึ่งเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานกลายเป็นฟ้องเรื่องละเมิดไปได้ เพราะฉะนั้นจะใช้อายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ มาปรับแก่คดีหาได้ไม่
พิพากาายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาเฉพาะประเด็นข้อ ๒ แล้วมีคำพิพากษาใหม่

Share