คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษาให้จำคุกจำเลยซึ่งมีอายุ17 ปีเศษ แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนคดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำอยู่แล้ว เพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องโทษทั่วไป ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนการฝึกอบรม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ควรที่จะได้มีการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษ หรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 63 จึงควรที่ศาลจะได้ฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนที่จะพิจารณาสั่งว่าสมควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือไม่

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องหาว่า ร่วมกับจำเลยที่ 2 กับพวกอีกคนหนึ่งที่หลบหนีใช้มือรัดคอ ชกต่อย และใช้เหล็กหลาวแทงทำร้ายนายสงบ ศรีชวนะ แล้วร่วมกันปล้นทรัพย์รวมราคา 5,250 บาท ของผู้เสียหายไป ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ข้อ 14 จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปีเศษ ลงโทษโดยลดมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3ตามมาตรา 76 แล้ว เป็นโทษจำคุก 12 ปี คำรับชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตาม มาตรา 78คงจำคุก 8 ปี พิจารณาประวัติและความประพฤติของจำเลยแล้วให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ชั้นสูงจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 31, 32 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 9, 10ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2515 คดีถึงที่สุดแล้ว

ต่อมาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง รายงานต่อศาลขอให้เพิ่มเวลาฝึกอบรม เพราะจำเลยที่ 1 ไม่พยายามรับการฝึกอบรม แต่ได้ร่วมกันหนีจากสถานกักและอบรม ตามนัยมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 11ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28พฤษภาคม 2516 ให้เพิ่มกำหนดเวลาที่ต้องฝึกอบรมขึ้นเป็นกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี 6 เดือน ขั้นสูงคงเดิม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506มาตรา 11

ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางว่า จำเลยถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำอยู่แล้ว และเพื่อจำเลยจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องโทษทั่วไปขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนการฝึกอบรม ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จำเลยจะมายื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง ขอให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาจากการฝึกอบรมเป็นโทษจำคุก

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการที่ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นส่งตัวไปฝึกอบรมเป็นวิธีการที่มากว่าโทษจำคุกอยู่แล้ว คดีไม่มีพฤติการณ์ใดเปลี่ยนแปลงอันจะเป็นเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาให้ตามที่จำเลยที่ 1ขอ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง

จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมาเช่นเดียวกับในชั้นอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลลงโทษจำคุกแทนการฝึกอบรมตามคำพิพากษาภายหลังคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 63จะกระทำได้ต่อเมื่อความปรากฏแก่ศาลโดยศาลทราบเอง หรือจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือคณะกรรมการพินิจคุ้มครองเด็กหรือผู้ปกครองโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรมว่า พฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปการที่จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลว่าจำเลยถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำแทนการฝึกอบรม เป็นการกล่าวอ้างว่าพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นนั้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงและเหตุผลจะเป็นดังที่จำเลยอ้างในคำร้องหรือไม่ ยังไม่ได้ความตามทางพิจารณาหรือมีรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจในเรื่องนี้เลยจึงควรที่ศาลจะได้ฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนพิจารณาสั่งว่าสมควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยไปทีเดียวศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ 1 ก่อนแล้วทำคำสั่งใหม่ตามควรแก่กรณี

Share