คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยและผู้อื่นอีก 3 คนต่างเป็นเจ้าของที่ดินนาเกลือซึ่งอยู่ทางเหนือต่อจากที่ดินเหล่านี้ลงไปทางใต้ เป็นที่ดินยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นวังขังน้ำที่คนเหล่านี้ช่วยกันทะนุบำรุงรักษาและใช้น้ำในวังขังน้ำสำหรับทำนาเกลือร่วมกัน ไม่อาจกำหนดลงได้ว่าเจ้าของนาเกลือคนใดเป็นเจ้าของที่ดินวังขังน้ำตรงไหน เมื่อโจทก์เลิกทำนาเกลือจะเปลี่ยนเป็นทำนากุ้งในที่ดินวังขังน้ำซึ่งอยู่ติดต่อตรงกับที่ดินนาเกลือของโจทก์ แต่พอเริ่มเข้าทำจำเลยก็ขัดขวางและเข้าทำบ้าง และเกิดพิพาทกันในชั้นตำรวจและอำเภอตลอดมาโจทก์จำเลยต่างแยกกันครอบครองและแย่งกันทำประโยชน์ ต่างก็ได้เข้าครอบครองที่พิพาท แต่ยังไม่มีฝ่ายใดเข้าครอบครองโดยสงบเป็นส่วนสัด เมื่อคดีมาสู่ศาล ศาลย่อมแบ่งที่พิพาทให้โจทก์จำเลยฝ่ายละครึ่ง

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษามาด้วยกัน

โจทก์สำนวนที่ 1 ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินนาเกลือ โฉนดที่ 4496 เนื้อที่ 9 ไร่ 40 วา กับที่ดินนาเกลือ 3 ไร่ และที่ดินวังขังน้ำสำหรับทำนาเกลือ 50 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดนั้นและยังไม่มีหนังสือสำคัญ จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่นาเกลือ 3 ไร่ และที่ดินวังขังน้ำ 50 ไร่ของโจทก์เพื่อออกโฉนดเอาเป็นของจำเลย ต่อมาจำเลยกับพวกได้บุกรุกเข้าไปเอาลวดหนามกั้นเป็นรั้วขวางระหว่างที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ 4496 กับที่ดิน 3 ไร่ กับบุกรุกเข้าขุดดินในที่ดินวังขังน้ำของโจทก์ ขอให้พิพากษาแสดงว่าที่ดินนาเกลือและที่วังขังน้ำเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและสั่งระงับการออกโฉนดที่ดินให้จำเลย กับให้จำเลยรื้อถอนลวดหนามออกไป

โจทก์สำนวนที่ 2 ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินนาเกลือโฉนดที่ 4494 เนื้อที่ 23 ไร่เศษ กับที่ดินยังไม่มีหนังสือสำคัญเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งเป็นที่วังขังน้ำสำหรับทำนาเกลืออยู่ติดกับที่มีโฉนดนั้น จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินวังขังน้ำของโจทก์เพื่อออกโฉนด แล้วบุกรุกเข้าไปเอาลวดหนามกั้นเป็นรั้วระหว่างที่ดินโฉนดที่ 4494 กับที่ดินวังขังน้ำ และรื้อถอนป้ายแสดงอาณาเขตซึ่งโจทก์ปักไว้ทิ้ง ต่อมายังได้บุกรุกเข้าขุดดินในวังขังน้ำของโจทก์อีกขอให้พิพากษาแสดงว่าที่ดินวังขังน้ำเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง สั่งระงับการออกโฉนดที่ดินแก่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าป้าย 100 บาท และให้รื้อถอนรั้วลวดหนาม

โจทก์สำนวนที่ 3 ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินนาเกลือโฉนดที่ 4495 เนื้อที่ 22 ไร่เศษ และโฉนดที่ 5373 เนื้อที่ 10 ไร่เศษ กับที่ดินวังขังน้ำ 100 ไร่ อยู่ติดกับที่ดินโฉนดที่ 4495 กับอีก 50 ไร่อยู่ติดกับที่ดินโฉนดที่ 5373 และเป็นเจ้าของที่ดินนาเกลืออีกประมาณ 3 ไร่ ที่วังขังน้ำกับที่นาเกลือ 3 ไร่นี้ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่วังขังน้ำทั้ง2 แปลง กับที่นาเกลือ 3 ไร่นั้นเพื่อออกโฉนด ต่อมายังเอาลวดหนามกั้นเป็นรั้วระหว่างที่วังขังน้ำกับที่ดินโฉนดที่ 4495 และระหว่างที่นาเกลือ 3 ไร่กับที่ดินโฉนดที่ 5373 และบุกรุกเข้าขุดดินในที่วังขังน้ำของโจทก์ ขอให้พิพากษาแสดงว่าที่วังขังน้ำ 2 แปลง และที่นาเกลือ 3 ไร่เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องสั่งระงับการออกโฉนดให้จำเลย กับให้รื้อถอนรั้วลวดหนาม

จำเลยให้การว่า ที่พิพาททั้ง 3 สำนวนและที่ดินข้างเคียงติดต่อกันจนจดทะเลราว 1,000 ไร่เศษ เดิมเป็นของขุนราชพินิจไจปู่ของจำเลยขุนราชพินิจไจได้ขุดลำรางทางด้านตะวันตกและด้านเหนือของที่เพื่อรับน้ำเข้าทำนาเกลือ เมื่อขุนราชพินิจไจตาย ที่ดินทั้งหมดตกทอดมาเป็นของนายส่านบิดาจำเลย นายส่านได้ขอออกโฉนดที่แปลงนี้บางส่วนแบ่งโฉนดออกเป็น 14 แปลง อยู่ทางด้านเหนือของที่ดิน เนื้อที่ประมาณ300 ไร่ ที่เหลือก็ทำเป็นนาเกลือบ้าง เป็นที่เลี้ยงกุ้งบ้าง นายส่านทำพินัยกรรมยกที่ที่มีโฉนดให้บุตร 9 คน รวมทั้งจำเลยด้วย ส่วนที่เหลือนอกโฉนด 1,000 ไร่เศษ ยกให้จำเลยแต่ผู้เดียว ที่พิพาททั้ง 3 สำนวนเป็นส่วนหนึ่งของที่นอกโฉนดดังกล่าว นายส่านถึงแก่กรรมแล้วจำเลยได้ครอบครองที่ที่ได้รับตลอดมา ได้แจ้งการครอบครองที่นอกโฉนดไว้ 420 ไร่เศษ ที่พิพาทเป็นของจำเลย จำเลยมีสิทธิกั้นรั้วหรือขุดดิน คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยไม่ได้รื้อถอนป้ายของโจทก์สำนวนที่ 2

ศาลชั้นต้นฟังว่า เดิมนายส่านบิดาจำเลยมีที่ดินเฉพาะที่พิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่พิพาทนี้ 14 แปลง ประมาณ 300 ไร่ นายส่านทำพินัยกรรมยกให้บุตรอื่นคนละ 1 แปลง ที่เหลือยกให้จำเลย ส่วนของนางสุมิตรนางสุมาลีและบุตรคนอื่น ๆ ของนางหลี ได้ขายและยกให้โจทก์ทั้งสาม การทำนาเกลือต้องมีวังขังน้ำ และมีประเพณีอยู่ในตำบลนาเกลืออำเภอเมืองสมุทรปราการว่าผู้ใดซื้อหรือได้รับการยกนาเกลือให้ มีสิทธิได้รับวังขังน้ำด้วย ประเพณีนี้มีมานานเป็นประเพณีที่สมควรและมีเหตุผลกำหนดแน่นอน และยอมรับนับถือกันมาไม่ขาดสาย จึงมีผลเป็นกฎหมาย โจทก์ทุกคนจึงเป็นเจ้าของวังขังน้ำด้วย และพฤติการณ์ของจำเลยยังถือไม่ได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง ปัญหาเรื่องอายุความจึงไม่มี ที่นาเกลือ 3 ไร่ในสำนวนที่ 3 ก็ฟังได้ว่าโจทก์ในสำนวนนั้นครอบครองอยู่ กรณีละเมิดเรื่องป้ายในสำนวนที่ 2 คดีขาดอายุความ พิพากษาว่าที่วังขังน้ำตามแผนที่กลางเป็นของโจทก์ และที่ดิน 3 ไร่ ติดต่อกับที่ดินโฉนดที่ 4496 เป็นของโจทก์สำนวนที่ 1 ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องและขอออกโฉนด ให้จำเลยรื้อรั้วลวดหนามในที่ดินโจทก์ออกไป คำขอนอกนี้ให้ยก

โจทก์สำนวนที่ 3 และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ที่นอกโฉนดประมาณ 3 ไร่ติดกับโฉนดที่ 5373 เป็นของโจทก์สำนวนที่ 3 ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องและขอออกโฉนด ให้จำเลยรื้อรั้วลวดหนามในที่ดินส่วนนี้ด้วย

จำเลยฎีกาทั้ง 3 สำนวน

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินที่พิพาทกันนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ที่ดินนาเกลือที่อยู่นอกโฉนดซึ่งเป็นที่ส่วนน้อย ที่ดินที่พิพาทกันเป็นส่วนใหญ่คือที่ดินที่โจทก์เรียกว่าวังขังน้ำ

ที่ดินที่มีโฉนดอยู่ทางเหนือมี 7 เจ้าของด้วยกันคือ ที่ของโจทก์สำนวนที่ 2 หนึ่งแปลงของโจทก์สำนวนที่ 3 สองแปลง ของจำเลยสามแปลงของโจทก์สำนวนที่ 1 หนึ่งแปลงและของนางสาววงษ์แข นางเล็ก นายถนอม คนละหนึ่งแปลง ที่ดินวังขังน้ำอยู่ทางด้านใต้ของที่ดินมีโฉนดเหล่านี้

สำหรับที่ดินนาเกลือส่วนน้อยที่อยู่นอกโฉนดตามสำนวนที่ 1 และที่ 3 อยู่ติดกับที่ในโฉนดของโจทก์สำนวนที่ 1 และที่ 3 มีสภาพเป็นนาเกลืออยู่ก่อนช้านานแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์สำนวนที่ 1 และสำนวนที่ 3 ได้ครอบครองมาหลายปีแล้วนับแต่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดโจทก์ทั้ง 2 สำนวนนั้นย่อมได้สิทธิครอบครอง

ที่ดินที่โจทก์เรียกว่าวังขังน้ำนั้นน่าเชื่อว่าเป็นวังขังน้ำสำหรับใช้ทำนาเกลือมาจริงดังโจทก์อ้าง เจ้าของนาเกลือกลุ่มเดียวกันคือโจทก์จำเลยและคนอื่น ๆ ได้ใช้วังขังน้ำนี้ร่วมกันในการทำนาเกลือตลอดมา มูลเหตุที่จะเกิดกรณีพิพาทกันก็เพราะราคาเกลือตกต่ำ ทางราชการแนะนำให้เปลี่ยนจากการทำนาเกลือมาเป็นนากุ้ง โจทก์ทั้ง 3 สำนวนจึงเข้าขุดร่องในวังขังน้ำเพื่อเลี้ยงกุ้งปลา จำเลยก็ขัดขวางทันทีอ้างว่าที่วังขังน้ำทั้งหมดเป็นของจำเลย มีการแจ้งความกล่าวหาซึ่งกันและกันยืดเยื้อเรื้อรัง เจ้าหน้าที่ก็ไม่อาจชี้ขาดได้ ในที่สุดให้นำคดีขึ้นสู่ศาล

โจทก์ได้นำสืบถึงประเพณีเกี่ยวกับวังขังน้ำนี้ว่า ตามปกติใครเป็นเจ้าของนาเกลือก็เป็นเจ้าของวังขังน้ำด้วย เมื่อเลิกทำนาเกลือแล้วโจทก์ทั้ง 3 สำนวนก็ตกลงแบ่งที่วังขังน้ำกันโดยถือว่า หัวนาเกลือด้านใต้ของแต่ละเจ้าของกว้างเท่าใด ที่วังขังน้ำตอนใต้ที่ตรงกันลงมาก็เป็นของผู้นั้นโดยวัดตลอดลงมาจนสุดที่วังขังน้ำ

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินวังขังน้ำนี้เจ้าของนาเกลือในกลุ่มหนึ่ง ๆ ใช้น้ำในวังขังน้ำสำหรับทำนาเกลือร่วมกัน ช่วยกันทะนุบำรุงรักษาวังขังน้ำ ในระหว่างที่ใช้น้ำในวังขังน้ำทำนาเกลืออยู่นั้นก็ไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์จำเลยได้เข้าไปทำประโยชน์เพียงใดในที่นี้ จึงไม่อาจกำหนดลงได้ว่าเจ้าของที่ดินนาเกลือคนใดเป็นเจ้าของที่ดินวังขังน้ำตรงไหน เพราะความจริงต่างก็เพียงแต่อาศัยน้ำในวังขังน้ำใช้ทำนาเกลือไปตามฤดูกาลเท่านั้น การครอบครองเพิ่งจะเริ่มเมื่อเลิกทำนาเกลือเปลี่ยนมาทำนากุ้ง แต่พอโจทก์เข้าทำจำเลยก็ขัดขวางและเข้าทำบ้าง เกิดพิพาทกันในชั้นตำรวจและอำเภอตลอดมา สำหรับประเพณีที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นก็ยังเลื่อนลอยอยู่ ไม่อาจถือได้ว่ามีอยู่เช่นนั้นจริง ข้อเท็จจริงฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์จำเลยต่างแยกกันครอบครองและแย่งกันทำประโยชน์ในที่วังขังน้ำรายพิพาท อันเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์จำเลยต่างก็ได้เข้าครอบครองที่พิพาท แต่ยังมิได้เข้าครอบครองโดยความสงบเป็นสัดส่วน จึงสมควรแบ่งที่วังขังน้ำรายพิพาทให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 587/2480

พิพากษาแก้ ให้แบ่งวังขังน้ำรายพิพาทในแต่ละสำนวนให้โจทก์และจำเลยในสำนวนนั้น ๆ คนละครึ่ง ถ้าการแบ่งไม่ตกลงกัน ก็ให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยก่อน เมื่อไม่ตกลงกันอีก จึงให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วน นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share