คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ มีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลผู้นั้นถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสอง จึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจ มาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ริบหลอดฉีดยาพร้อมเข็มและเฮโรอีนของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67, 102 จำเลยที่ 1จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 5,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว จำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นสมควรไม่รอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด2 ปี และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ และให้จำเลยที่ 2 เว้นจากการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ และให้จำเลยที่ 2 เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดยาเสพติดให้โทษตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร หากจำเลยที่ 2ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบหลอดฉีดยาพร้อมเข็มนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษในคดีตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับ ต้องถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อนตามที่ปรากฏในรายงาน การสืบเสาะและพินิจมาเป็นเหตุไม่รอการลงโทษเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ” บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลผู้นั้นถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสองจึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อนในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจ มาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อไปมีว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้นำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

พิพากษายืน

Share