คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทนั้นต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ 4 คนฟ้องขอแบ่งมรดกกับจำเลยในฐานะบุตรและผู้รับมรดกแทนที่ของบุตรเจ้ามรดกผู้ตาย แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าเจ้ามรดกมีบุตรรวม 6 คน ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์ทั้ง 4 และจำเลยมีสิทธิได้รับคนละ 1 ใน 6 ส่วนของทรัพย์มรดกโจทก์อ้างขอส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 5 ส่วน โดยถือว่าทายาทอีกคนหนึ่งมิได้ฟ้องขอแบ่งมรดกด้วยมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายจีด นางเจริญซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์ที่ 1, 2, 3 และจำเลย และเป็นตายายของโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางสวนมารดาตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้องได้จัดการทรัพย์สินไว้ก่อนตาย คือ ที่บ้านตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 1 ให้ลูกหลานอยู่อาศัย ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดที่ 2838 ให้จำเลยซึ่งเป็นคนพิการ ส่วนที่ดินโฉนดที่ 2841 ตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 ที่เหลือจากแบ่งขายแล้วเอาไว้ทำกินระหว่างมีชีวิตและเพื่อประสงค์จะขายทำบุญทำศพเมื่อตาย ภายหลังนายจีดตายลง นางเจริญกับบุตรหลานได้ปกครองมรดกที่เหลืออยู่ร่วมกันมา ต่อมาเมื่อนางเจริญตาย จำเลยให้นางสาวอุบลนำพินัยกรรมผู้ตายไปขอรับโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 2841 โจทก์ได้ไปคัดค้านไว้เพราะพินัยกรรมผู้ตายมีเพียงฉบับเดียวซึ่งยกที่ดินเฉพาะโฉนดที่ 2838 ให้จำเลยเท่านั้น พินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมที่ฝ่ายจำเลยทำขึ้นเอง ทรัพย์มรดกทั้งหมดมีราคา 25,500 บาท โจทก์ขอหักค่าทำศพจากกองมรดกไว้ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นมรดกที่ต้องแบ่งกันระหว่างโจทก์จำเลยคนละส่วน ขอให้ศาลพิพากษาว่ามรดกรายนี้ไม่มีพินัยกรรม ให้หักเงินค่าทำศพจำเลยดังกล่าวจากกองมรดก ที่เหลือให้แบ่งกันระหว่างโจทก์จำเลยคนละส่วน หากไม่ตกลงให้ประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน

จำเลยให้การต่อสู้ว่านายจีด นางเจริญ ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดที่ 2841 ให้จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินค่าทำศพ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างไม่ใช่พินัยกรรมของนายจีดผู้ตายพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกตามรายการอื่น ๆ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องออกเป็น 5 ส่วน โดยให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยได้คนละส่วนหากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันให้หักเงินจากกองมรดกเป็นค่าทำศพ 10,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาศาลอุทธรณ์จำเลยถึงแก่กรรม นายสินน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยเข้ารับมรดกความแทนจำเลย

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทมิใช่ของผู้ตาย แต่ในการแบ่งส่วนมรดกนั้นตามบัญชีเครือญาติมีทายาทโดยธรรม6 คนจึงต้องแบ่งเป็น 6 ส่วน พิพากษาแก้ให้แบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น 6 ส่วนโดยให้โจทก์ทั้ง 4 และจำเลยได้คนละส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันและให้หักเงินจากกองมรดกเป็นค่าทำศพเจ้ามรดก 10,000 บาท

โจทก์ฎีกาขอให้แบ่งส่วนมรดกตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่าตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้องโจทก์รับว่าบุตรนายจีดนางเจริญมีทั้งหมด 6 คน การแบ่งส่วนมรดกต้องแบ่งให้เท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ กล่าวคือแบ่งออกเป็นส่วนตามจำนวนทายาทที่มีสิทธิรับมรดกซึ่งในกรณีนี้ก็คือ 6 ส่วน ซึ่งโจทก์ย่อมได้คนละ 1 ใน 6 ส่วน จะคิดส่วนแบ่งเป็น 5 ส่วนโดยอ้างว่านายสินทายาทอีกคนหนึ่งไม่ได้ขอแบ่งมรดกด้วยนั้นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ส่วนของโจทก์ ส่วนข้อฎีกาที่ว่านายสินสละมรดกและไม่ได้ปกครองร่วมกับทายาทอื่น ก็เป็นข้ออ้างที่มิได้มีอยู่ในฟ้อง ซึ่งกลับว่ามรดกส่วนที่เหลือ นางเจริญมารดากับบุตรหลานได้ปกครองร่วมกันตลอดมาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งเป็น 6 ส่วน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share